‘ทองหล่อ’ ยังมีเสน่ห์ ทำเลแกร่ง ราคาที่ดินพุ่ง

03 พ.ค. 2564 | 16:16 น.
983

‘ทองหล่อ’  ยังมีมนต์เสน่ห์ ทำเลแกร่ง ราคาที่ดินพุ่งแม้เป็นคลัสเตอร์โควิดสถานบันเทิง

 

“ทองหล่อ” หรือสุขุมวิท 55  กลายเป็นทำเลร้อนที่หลายคนพูดถึงมากในเวลานี้ว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด 19 ระลอก 3 หรือระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 จากสถานบันเทิงระดับไฮคลาสเชื่อมโยงไปยังหลายพื้นที่กระทั่งครอบคลุมครบ 77 จังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว

หากย้อนเวลากลับไปถึงต้นตอการการระบาดรอบแรกของประเทศไทยที่หลายคนยังจดจำ ถึงแหล่งแพร่เชื้อครั้งใหญ่มาจากสถานบันเทิงย่านนี้ นั่นคือทองหล่อ เมื่อต้นปี 2563 ถึงขั้นรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกรุงเทพมหานครต้องออกคำสั่งปิดเมือง ธุรกิจล้มตายผู้คนตกงานจำนวนมากมาแล้วซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ย่านทองหล่อจะดูน่ากลัวปนเปื้อนไปด้วยเชื้อร้าย แต่ความแข็งแกร่งของ ทำเลมองว่า โควิดไม่สามารถโค่นทำลายได้

เนื่องจากเป็นย่านที่อยู่ร่วมกันได้อย่างผสมผสาน ถนนสายราตรีในยามค่ำคืน ย่านธุรกิจชั้นนำในยามกลางวันอีกทั้งยังถูกขนานนา “มินิโตเกียว” ย่านอยู่อาศัยชั้นดีของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และคอนโดมิเนียมสุดหรู  แม้วันนี้ทองหล่อจะดูเงียบเหงาบางตา จากมาตรการปิดร้านรวงสถานบันเทิง แต่มองว่าเป็นช่วงที่ ไวรัสผ่านมา แล้วผ่านไปเช่นเดียวกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่  เมื่อสถานการณ์กลับเข้าที่คลี่คลาย แน่นอนว่า ที่นี่ยังคงความนิยมอันดับต้นๆดังเดิม

โดยราคาที่ดินค่อนข้างสูง  2 ล้านบาทต่อตารางวา บางแปลงซื้อมาในราคาเกือบ 3 ล้านบาทต่อตารางวา เพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมลักชัวรีขายชาวญี่ปุ่นและแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นเนื่องจากที่ดินหายาก ความต้องการที่ดินยังมีเพิ่ม ต่อเนื่องสำหรับดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ แถวหน้าของเมืองไทยและทุนใหญ่ต่างชาติ ทั้งนี้นาย สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัดระบุว่า แม้ทองหล่อจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่แหล่งระบาดโควิด-19จากสถานบันเทิง แต่เชื้อไวรัวมาแล้วก็ไปและยังคงมีเสน่ห์  พิจารณาจาก คอนโดมิเนียมที่เปิดขายย่านทองหล่อ 9,800 หน่วยขายไปได้แล้ว 78% โดยราคาขายต่อตารางเมตร 1.5แสน-ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท 

ย้อนไปในปี2562ก่อนหน้าการระบาดโควิดรอบแรก ทำเลทองหล่อมีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่เข้าพื้นที่ประมาณ 10 โครงการ ไม่ต่ำกว่า 2,000 หน่วย ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยไม่รวมซัพพลายที่เปิดมาก่อนหน้านี้ อย่างเช่น โครงการ “เดอะ แชปเตอร์ ทองหล่อ 25” ของบริษัทพฤกษาโฮลดิ้ง โดยค่ายนี้ เลือกซื้อที่ดินทำเลกลางซอย เนื่องจากราคาไม่แพง อยู่ที่กว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา สามารถพัฒนาคอนโดมิเนียมในราคาตารางเมตรละ 1.5 - 1.6 แสนบาท หรือราคา 5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นกลุ่มระดับกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าคนไทยสามารถซื้อได้ เมื่อเทียบกับทำเลปากซอย ราคาขายต่อหน่วยอยู่ที่ 10-12 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตารางเมตรละ 2.5-3 แสนบาทต่อตารางวา เนื่องจากเป็นแปลงมีศักยภาพสูง

นอกจากนี้ยังมี บริษัท 1.6 ดีเวล็อปเม้นต์ (วันพ้อยท์ซิกซ์ ดีเวล็อปเม้นต์) เปิดขายคอนโดมิเนียมลักชัวรี “เดอะ สแตรนด์ ทองหล่อ” มูลค่า 4.8 พันล้านบาท ตึกสูง 30 ชั้น จำนวน 198 ห้อง ราคาเริ่มต้น 3.5 แสนบาทต่อตารางเมตร หรือ เริ่มต้น 16.5 ล้านบาท ที่ร่วมทุนกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่นฯ (MQDC)  ลูกค้ากลุ่มลูกค้าคนไทย ต่างชาติ ยุโรป ฮ่องกง และสิงคโปร์ด้วยความเป็นชุมชนเก่า ผสมผสานย่านธุรกิจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เที่ยว กิน ดื่ม ครบ ไม่ต่างจากย่าน “ลานไควฟงของฮ่องกง” หรือ “ถนนโอโมเตะซันโดของญี่ปุ่น” ทำให้ปัจจุบัน ทองหล่อกลายเป็นทำเลทองที่ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ปักหมุดขึ้นคอนโดมิเนียม ตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอยเพราะย่านนี้กลุ่มกำลังซื้อสูงและเป็นถนนที่ไม่เคยหลับหากไม่ถูกปิดตามมาตรการรัฐเพราะโควิดเสียก่อน 

‘ทองหล่อ’ ยังมีเสน่ห์ ทำเลแกร่ง ราคาที่ดินพุ่ง

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564