เวนคืน1.5หมื่นล้าน ปักหมุด30สถานี รถไฟทางคู่ "แม่สอด-นครสวรรค์"

20 มี.ค. 2564 | 16:57 น.
35.2 k

รฟท. เวนคืน1.5หมื่นล้าน เปิดหน้าดินปักหมุด30สถานี รถไฟทางคู่ แม่สอด-นครสวรรค์

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  เร่งรัด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่   เชื่อมโยง  ฝั่งตะวันออกและตกของไทย(อีสต์-เวสต์ คอริดอร์)  ได้แก่  เส้นทาง แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์  และนครสวรรค์-บ้านไผ่ ให้ครบทั้ง 3 เส้นทาง ภายหลัง คณะรัฐมนตรี  (ครม.) อนุมัติ เส้นทาง รถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะประมูลในปีนี้ หากก่อสร้างครบทั้ง3เส้นทางจะช่วย เชื่อมการเดินทางในประเทศและ ขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์  ระยะทาง 254 กิโลเมตร ก่อสร้างเวนคืนเปิดหน้าดินใหม่ทั้งหมด แยกเป็นงบประมาณเวนคืน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8.1-  8.3 หมื่นล้านบาทความคืบหน้า คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.)  อนุมัติให้จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ พฤศจิกายน 2565และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอโครงการให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติปลายปี 2565 เปิดประมูลปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการอย่างเร็วปี 2571อย่างช้า ปี2572

หากรถไฟเส้นนี้เปิดให้บริการจะช่วยสร้างความเจริญเข้าถึงพื้นที่ โดยเฉพาะรอบสถานีราว30แห่ง ขณะ รายละเอียดโครงการเบื้องต้น ออกแบบเป็นรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร (เท่ากับรถไฟในปัจจุบัน)ขนาดเขตทางกว้าง 50 เมตร โครงการแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ1. นครสวรรค์ - กำแพงเพชร - ตาก ระยะทาง 186 กิโลเมตร มีสถานี 24 สถานี2. ตาก – แม่สอดระยะทาง 68 กิโลเมตร มีสถานี 5 สถานี

ทั้งนี้สำหรับระยะทางรวม 254 กิโลเมตร มีรูปแบบเส้นทางคือ 1. ทางวิ่งระดับดิน 193 กิโลเมตร2. ทางวิ่งยกระดับ 31.5 กิโลเมตร3. อุโมงค์ 29.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 28 แห่ง มีลานกองเก็บคอนเทนเนอร์ (CY) 4 แห่งได้แก่  ได้แก่ 1. สถานีเจริญผล2. สถานีกำแพงเพชร3. สถานีหนองบัวใต้4. สถานีด่านแม่สอด และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ที่สถานีหนองบัวใต้

 

จุดประสงค์หลัก ช่วยขยายโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมพื้นที่มีศักยภาพ ในการขนส่งสินค้า เช่น นครสวรรค์, กำแพงเพชร และ ตาก ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม ใหญ่ของประเทศ  เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดประตูในการขนส่งสินค้า แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงผ่านเขา ตาก-แม่สอด ซึ่งมีรถบรรทุกในการเดินทางไปชายแดนแม่สอดเป็นจำนวนมาก และมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

 

 

เวนคืน1.5หมื่นล้าน ปักหมุด30สถานี รถไฟทางคู่ \"แม่สอด-นครสวรรค์\"

 

แนวเส้นทางแบ่งออกเป็น 2ช่วง ช่วงที่ 1 นครสวรรค์ - กำแพงเพชร - ตาก มีจุดเริ่มต้นโครงการจากสถานีนครสวรรค์ ใช้ทางร่วมกับทางรถไฟทางคู่ช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ แล้วแยกจากทางหลักที่สถานีปากน้ำโพ (ในอนาคตจะเป็นสถานีชุมทางปากน้ำโพ)แล้วแยกออกซ้าย ข้ามแม่น้ำน่าน ผ่านอำเภอเมืองนครสวรรค์ ตัดเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ตะวันออกผ่านอำเภอเก้าเลี้ยว ผ่าน ทางหลวง 117 ผ่านอำเภอบรรพตพิสัย เข้าสถานีเจริญผล ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY)

เวนคืน1.5หมื่นล้าน ปักหมุด30สถานี รถไฟทางคู่ \"แม่สอด-นครสวรรค์\"

จากนั้นเส้นทางรถไฟจะเข้าจังหวัดกำแพงเพชรเพชร ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอคลองขลุง แล้วเข้าสู่อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตัดผ่านทางหลวง 115 และเข้าสถานีกำแพงเพชร ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY) จากนั้นมุ่งหน้าสู่อำเภอพรานกระต่าย เข้าอำเภอโกสัมพีเข้าสู่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตัดกับทางหลวง 104 ข้ามแม่น้ำปิง เข้าสู่สถานีหนองบัวใต้ ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY) แล้วเลี้ยวซ้ายตัดกับทางหลวง 1 เข้าสถานีตาก

 

 

 

ช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ช่วงนี้จะผ่านเขา มีจำนวนสถานีน้อย ส่วนมาจะตัดผ่านป่า และเป็นอุโมงค์ลอดเขา ถึง 4 ช่วงเพื่อแก้ปัญหาความชัน และก่อสร้างในเขตอุทยานเริ่มต้นจากสถานีตาก เข้าอุโมงค์ดอยรวก ระยะทาง 15.52 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่สถานีด่านแม่ละเมา จากนั้นจะเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 1 ระยะทาง 1.42 กิโลเมตร และเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 2 ระยะทาง 0.775 กิโลเมตรเข้าสู่อุโมงค์ ดอยพะวอ ระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่พื้นที่ราบ อำเภอแม่สอด เข้าสถานีแม่ปะ แล้วเลี้ยวซ้ายตัดกับทางหลวง 130 (เลี่ยงเมืองแม่สอด ไปด่านแม่สอด 2) วิ่งเข้าสู่สถานีแม่สอด มุ่งหน้าสู่สถานีด่านแม่สอด ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY)

 

โดยเส้นทางจะออกแบบเป็นระบบปิดสมบูรณ์ ไม่มีจุดตัดทางรถไฟระดับดิน เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุในอนาคต และการเดินรถไฟ ได้อย่างคล่องตัวเนื่องจากทำจุดตัดทางรถไฟเป็นหลายๆรูปแบบคือ1.สะพานข้ามทางรถไฟ (overpass)2.ทางรถไฟยกระดับ 3. ทางลอดทางรถไฟและ4. ถนนบริการ

โดยสรุปรถไฟทางคู่เส้นทางนี้จะเป็นทางเลือกในการเชื่อมเพื่อนบ้านและส่งเสริมความได้เปรียบเป็นประตูด้านตะวันตก ของประเทศไทยเราในอนาคตรวมถึงการแก้ปัญหาอุบัติเหตุในช่วง ตาก-แม่สอด ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง