โควิดทุบท่องเที่ยว ฉุด AWC ปี 63 ขาดทุน 1,881 ล้าน

15 ก.พ. 2564 | 17:07 น.

อสังหาฯเจ้าสัวเจริญ AWC ประกาศผลประกอบการประจำปี 2563 ขาดทุน 1,881 ล้านบาท เหตุโควิดกระทบธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยว ขณะยันกระแสเงินสดยังแข็งแกร่ง เดินหน้าแผนการเติบโต ปี 2564 อย่างยั่งยืน

แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำรายใหญ่ของไทย ประกาศผลประกอบการในปี 2563 และ ไตรมาส 4/2563 ว่า บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมที่ 6,133 ล้านบาท และ 1,578 ล้านบาท ตามลำดับ หากพิจารณารายได้รวมของไตรมาส 4/2563 เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2563 รายได้รวมปรับตัวสูงขึ้น 24.60% ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ได้รับประโยชน์จากแผนกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ ( Balanced and Diversified Portfolio) ทำให้บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้กระแสเงินสดรวมในปีที่ผ่านมาของบริษัทยังคงเป็นบวก

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการดำเนินงาน การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวและแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 4/2563 ลดลง 13.6% จากไตรมาส 3/2563 เป็นผลมาจากแผนการปรับโครงสร้างองค์กรควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย (Cost Control and Efficiency Initiatives) ซึ่งเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการบริหารงานรวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว 
 

โควิดทุบท่องเที่ยว ฉุด AWC  ปี 63 ขาดทุน  1,881 ล้าน

ขณะนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว AWC จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างปรากฏการณ์โดยการเปิดโครงการใหม่ระดับแลนด์มาร์ค เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยได้ดำเนินการตามแผนงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด 

ที่ผ่านมาเราดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายของแผนธุรกิจที่วางไว้ ด้วยการเข้าซื้อทรัพย์สินกลุ่ม 3 และการเปิดโครงการ โรงแรมมีเลีย เกาะสมุย โรงแรมบันยันทรีกระบี่ เรือสิริมหรรณพ และลาซาล อเวนิว เฟส2 เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความมั่นคงให้กับพอร์ตทรัพย์สินของ AWC ทำให้ ณ สิ้นปี 2563 AWC มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 125,696 ล้านบาท โดยเติบโตจาก 99,549 ล้านบาท ในปี 2562 อยู่ที่ 26% 

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็น ตะวันนา บางกะปิ2 โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ตทาวน์ แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ และบริษัทฯ ยังมีนโยบายในการลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าเช่าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า (Retail) เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกันอย่างดีที่สุด ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ ไตรมาส 4/2563 ที่ 492 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 20.6% จากไตรมาส 3/2563 

อย่างไรก็ดีบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง เนื่องจากการต่อยอดในการดำเนินกลยุทธ์ในการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ทำให้ธุรกิจยังคงเดินหน้า เติบโตได้อย่างยั่งยืน” 

สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ของบริษัท ยังคงได้รับผลกระทบจากภาพรวมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัท อย่างไรก็ตาม AWC ได้เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวการเดินทาง Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากนี้ยังวางแผนโครงการ AWC INFINITE LIFESTYLE: INFINITE POINT OF HAPPINESS ตอบรับนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง 

โดยรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 470 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563 เป็น 773 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 64.6% ในขณะที่รายได้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 836 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2563 เป็น 872 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2563 หรือเพิ่มขึ้น 4.3% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail) ที่มีจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ (Traffic) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งหากไม่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ตามที่ได้เกิดขึ้น คาดว่าผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ จะปรับตัวสูงขึ้นกว่าตัวเลขในปัจจุบัน  

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าต่อยอดแผนพัฒนาองค์กร (Corporate Transformation) ควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต (Cost Control and Efficiency Initiatives) โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานได้ลดลงจาก 92.8% ในไตรมาส 3/2563 เป็น 78.6% ในไตรมาส 4/2563 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเดินหน้าในส่วนของมาตรการบริหารต้นทุนระดับองค์กร ในการตัดลดค่าใช้จ่ายในหลายด้าน  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดดีล AWC ซื้อ 'เวิ้งนครเขษม ' 8.2 พันล้าน

เจ้าสัวเจริญ เขย่าพอร์ต AWC ซื้อขายบิ๊กล็อตกว่า 2.2 หมื่นล้าน

ทายาทเจ้าสัวเจริญ เผย Q3 แม้ AWC ขาดทุน แต่เริ่มเห็นฟื้นตัวเที่ยวในประเทศ

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC ตั้งกองทุนหมื่นล.ช้อนซื้อโรงแรม