ศึก ขยายสัมปทาน สายสีเขียว รื้อ TOR สีส้ม ปมร้อนปี 63

31 ธ.ค. 2563 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2564 | 18:08 น.
1.2 k

ปมร้อนปี 2563 นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ที่จับตามองกันมากคงหนีไม่พ้น ศึกรถไฟฟ้า 2 สาย เริ่มจากการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งระบบ แลกภาระหนี้ 1.07 แสนล้านบาทของกระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร ให้กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี รวมถึง พิจารณาจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดสาย ไม่เกิน 65 บาทโดยไม่มีค่าแรกเข้า ท่ามกลางกระแสค้าน จนอาจลุกลามบานปลาย ว่าในที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรี (ครม.)จะพิจารณาต่อสัมปทานหรือไม่  

ย้อนผลการศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากสัญญาสัมปทานยังเหลืออีกหลายปีสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมแนะให้ดำเนินการทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ไปก่อน หากสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2572 ค่อยดำเนินการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายใหม่  โดยให้เอกชนทำพีพีพีแบบ Gross Cost เป็นทางทางออกเหมาะสมที่สุด

สวนทางกระทรวงการคลัง  เสนอครม.อนุมัติ รายงานผลการเจรจาและขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนสายสีเขียว ตามข้อตกลงกระทรวงมหาดไทยจะขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสซี อีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572 ไปเป็นปี 2602 เพื่อแลกกับเก็บค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย แต่กระทรวงคมนาคมเห็นแย้ง โดย นายศักดิ์สยามชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นว่าค่าโดยสารควรนำสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเป็นเกณฑ์ไม่เกิน 45 บาทตลอดสาย แต่ความต่างคือ สายสีน้ำเงินรัฐลงทุน ขณะสายสีเขียว เอกชนลงทุนงานโยธาและระบบเอง

ศึก ขยายสัมปทาน สายสีเขียว รื้อ TOR สีส้ม ปมร้อนปี 63

ขณะการแบกรับหนี้และการเดินรถในส่วนต่อขยาย โดยไม่ได้รับค่าจ้างประกอบการขยายสัมปทานถูกยื้อออกไปส่งผลให้บีทีเอสซีและกทม.ถึงขั้นประกาศหยุดเดินรถ แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองฝ่ายยังมีความหวังลึกๆว่าในที่สุดแล้วครม.อาจมีมติเห็นชอบขยายสัมปทานหลังเปิดเดินรถครบทั้งระบบแล้วและแม้ว่ากทม.จะเริ่มเก็บค่าโดยสารนับตั้งแต่ในวันที่ 16 ม.ค. 2564 แต่เมื่อมาคำนวนรายได้เปรียบเทียบอัตราจัดเก็บพบว่าไม่ว่าจะจัดเก็บอัตราใด กทม.ก็ขาดทุน เนื่องจากราคาตามต้นทุนอยู่ที่ราว 158 บาท ในทางกลับกัน หากเก็บในอัตราดังกล่าว ผลกระทบที่ตามมาคือผู้โดยสาร

 

 

 

มาที่สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ประชาชนต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน ว่าจะเดินหน้าเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เมื่อโครงการดังกล่าวกลับไม่ชอบมาพากล เนื่องจากภายหลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปิดการซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) คัดเลือกมาตรา 36 มีมติขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของทีโออาร์ในการประมูลโครงการฯ โดยปรับเกณฑ์พิจารณาซองข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค 70% และซองข้อเสนอที่ 3 ด้านการเงิน 30% ควบคู่กัน  และยืนยันว่า ไม่ได้เอาใจเอกชนรายใดรายหนึ่ง 

จุดเริ่มต้นมาจากบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หนึ่งในเอกชนผู้ซื้อซองร่วมลงทุนฯ ทำหนังสือ ร้องถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐโดยยึดผลประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ทั้งศักยภาพ วิธีการทำงานและความชำนาญการ มากกว่าการพิจารณาซองราคา จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ฟาก บีทีเอสซี มองว่าการปรับเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่นั้นไม่โปร่งใสและเป็นการเอื้อเอกชนอีกรายมากกว่า จนถึงขั้นฟ้องร้องศาลปกครอง เรียกว่า 2 รถไฟฟ้า ทั้งต่อสัมปทานสายสีเขียวและปมรื้อเกณฑ์ทีโออาร์ยังจะร้อนแรงทะลุจุดเดือดถึงปี 2564 !! 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564