เร่งปิดดีล ชาวบ้าน ค้าน ลุย ประมูล รถไฟฟ้า “สายสีม่วงใต้”

18 พ.ย. 2563 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2563 | 09:36 น.
1.4 k

รฟม. เร่งปิดดีล ชาวบ้าน ค้าน ดีเดย์ ก.พ. 2564 ลุย ประมูล รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ แสนล้าน หลังรอเคาะพรฎ.เวนคืนด้านประชาชนค้าน เหตุไม่ได้รับเงินชดเชยเวนคืนสถานีสามยอด 

 

เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)พร้อมกดปุ่ม ประมูล  โครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีม่วง ใต้( เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)   รูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) เบื้องต้นศึกษาเป็นรูปแบบ PPP Gross cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งเป็น รูปแบบเดียวกับสายสีม่วง เหนือ (เตาปูน – คลองบางไผ่) ที่เปิดให้บริการปัจจุบัน โดยประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น งานโยธาราว 8 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะจัดใช้วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะ  จะเป็นเอกชนรายเดิม  ที่ได้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง หรือไม่นั้น   นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า เชื่อว่าผู้รับเหมาทุกรายมีโอกาสในการเข้าร่วมประมูลโครงการฯได้ ซึ่งต้องพิจารณาในการยื่นข้อเสนอการประมูลก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนจะใช้เกณฑ์การประกวดราคา (ทีโออาร์) ในรูปแบบใดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เป็นผู้พิจารณา
สำหรับความคืบหน้าโครงการสายสีม่วงใต้ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 124,959 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563 ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564ดังกล่าว  และได้ตัวผู้รับจ้างระหว่างเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม 2564 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี โดยก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2570 

 

 

เร่งปิดดีล ชาวบ้าน ค้าน ลุย ประมูล รถไฟฟ้า “สายสีม่วงใต้”

ส่วนกรณีที่มีผู้อยู่อาศัยบริเวณสถานีสามยอด ขึ้นป้ายคัดค้านการก่อสร้างสายสีม่วง ใต้ ที่ระบุว่า ยังไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบเมื่อครั้งก่อสร้างสถานีสามยอด จาก สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดย รฟม. ได้มีการประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินฯ มาเป็นลำดับและอนุญาตในการเวนคืนพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันประชาชนที่คัดค้านเพราะได้รับอย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการรฟม. ย้ำว่าผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเป็นเรื่องปกติ ตามกฎหมายด้านการเวนคืนที่ดินจะมีการจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาเช่าช่วงระหว่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตรวจสอบรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร หากได้ข้อสรุปจะเร่งดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาในการจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินในครั้งนี้

กรณีประชาชนคัดค้านการก่อสร้างสายสีม่วงใต้  เบื้องต้นในการก่อสร้างสถานีสามยอด สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค ซึ่งมี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาและมีหน้าที่แก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างได้ดำเนินการเสริมเสถียรภาพของชั้นดิน ตรวจสอบการทรุดตัว และตรวจสอบวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาคารโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการปรับปรุงอาคารร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ และบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

 

 

 

ขณะผลกระทบจากการเวนคืน ประมาณ 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน นอกจากเวนคืนเพื่อพัฒนาแนวรถไฟฟ้าแล้ว ยังเวนคืนเพื่อเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี พื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถไฟฟ้า (เดโป้) 50 ไร่ ส่วนงบประมาณดำเนินงาน สำนักงบประมาณจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรร

สำหรับแนวเส้นทางสายสีม่วงใต้ จะเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนนข้ามคลองบางซื่อ โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพวุธทหารบก ที่สถานีเตาปูน ผ่านแยกเกียกกายเข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพูเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชรลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวรสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน ระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร รวมสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

 

หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3627