‘จัสโค’ ฝ่าวิกฤติ จับโอกาส ‘ดีมานด์องค์กรใหญ่’

16 มี.ค. 2563 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2563 | 13:42 น.

 

การเติบโตของราคาค่าเช่า และจำนวนพื้นที่เกิดใหม่ของกลุ่มอาคารสำนักงาน (ออฟฟิศบิลดิ้ง) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับแค่ สิ้นปี 2562 พบทั่วกรุงเทพฯ มีพื้นที่เช่าดังกล่าวกระจายทุกโซนมากกว่า 9 ล้านตารางเมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มอาคารเกรด A และ B ปักหมุดโซนใจกลางเมืองจากโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในอนาคตหลายแห่ง ซึ่งเปรียบเป็นการสวนกระแสขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่น้อย และอาจย้อนแย้งกับความต้องการของผู้เช่ากลุ่มบริษัทต่างๆในปัจจุบัน ที่อยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจไทย เสี่ยงปรับลด หรือมีโอกาสเพิ่มขนาดองค์กรได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่เริ่มมองหาพื้นที่ทำงานอื่นๆ รองรับ เพื่อเลี่ยงผูกพันกับสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งพื้นที่ทำงานแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซกำลังถูกให้ความสนใจมากขึ้น

นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ประเมินถึงตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันกำลังมีซัพพลายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ซึ่งส่วนมากถูกพัฒนาในรูปแบบโครงการอสังหาฯมิกซ์ยูส เพื่อหวังอำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่ายุคใหม่ โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะมีโครงการสำคัญๆ หลายโครงการพร้อมใช้งาน แทนที่อาคารสำนักงานเก่าอายุมากกว่า 20 ปี คาดการณ์จะมีซัพพลายใหม่จ่อเข้าตลาดกว่า 1.78 ล้านตารางเมตร ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

‘จัสโค’ ฝ่าวิกฤติ  จับโอกาส ‘ดีมานด์องค์กรใหญ่’

 

ขณะที่นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหาร บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ที่ปรึกษาและวิเคราะห์อสังหา ริมทรัพย์ไทย ระบุเสริมว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เช่าเลือกที่จะเช่าอาคารที่มีคุณภาพสูง โดยอาคารสำนักงานใหม่ ตกแต่งใหม่ มักจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และดึงดูดความต้องการได้ดีกว่า แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจส่งผลให้ผู้เช่าในปัจจุบันและผู้เช่าในอนาคต บางรายรอดูสถานการณ์ในการย้ายสำนักงาน หรือหาขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับองค์กรมากขึ้น จากแนวโน้มอาจมีการ ลด หรือขยายธุรกิจ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแทน

‘จัสโค’ ฝ่าวิกฤติ  จับโอกาส ‘ดีมานด์องค์กรใหญ่’

 

ฐานเศรษฐกิจเจาะลึกว่า สอดคล้องกับแนวโน้มพื้นที่การทำงานแบบยืดหยุ่นสมัยใหม่ หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ ที่เริ่มเป็นที่นิยมและขยายตัวมากขึ้นในย่านธุรกิจของไทย สะท้อนความสำเร็จจากการเข้ามาบุกตลาดของจัสโคผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซระดับพรีเมียมในเอเชีย สัญชาติสิงคโปร์ ที่มีการเติบโตแง่สมาชิก หรือผู้เข้าใช้พื้นที่ลักษณะดังกล่าวในไทยนับสิบเท่าตัว จาก 500 คน เมื่อปี 2561 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 หมื่นคน ใน 3 สาขา คือ เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์, แคปปิตอล ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส และ อาคารสามย่านมิตรทาวน์ รวมพื้นที่ 2.38 หมื่นตารางเมตร โดยนายคง วัน ลง ผู้ก่อตั้งร่วมและซีซีโอจัสโค ระบุล่าสุดว่า เดิมที 2 ปีที่แล้วโคเวิร์กกิ้งสเปซในไทยเป็นเรื่องใหม่ และได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม จากกลุ่มฟรีแลนซ์ สตาร์ตอัพ และธุรกิจขนาดเล็ก ที่ไม่ต้องการพื้นที่ทำงานขนาดใหญ่และตายตัว แต่ปัจจุบันมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร และบริษัทใหญ่ติดอันดับในฟอร์จูน 500 เช่น เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้, แกรนท์ ธอร์นตัน, เจเนอรัล อิเล็คทริค และอินเตอร์ทัช เป็นต้น รวมถึงพนักงานจากธนาคารกรุงไทย, กสิกรไลน์ ด้วย โดยเฉพาะในสาขา สามย่านมิตรทาวน์ ที่นับว่ามีพื้นที่รองรับใหญ่ที่สุดในไทยและในภูมิภาคเอเชีย

 

‘จัสโค’ ฝ่าวิกฤติ  จับโอกาส ‘ดีมานด์องค์กรใหญ่’

 

เนื่องจากพบปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ มีความต้องการใช้พื้นที่แบบยืดหยุ่น เพื่อรองรับการปรับลด หรือเพิ่มจำนวนพนักงานอย่างคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคอมมิวนิตีของกลุ่มคนทำงานหลากหลาย กลายเป็นโอกาสแลกเปลี่ยน และเอื้อต่อการทำธุรกิจใหม่ๆ จึงเตรียมเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่ง ทำเลใจกลางซีบีดี อย่าง อัมรินทร์ ทาวเวอร์ นับรวมอีกมากกว่า 1.2 หมื่นตร.. ภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งสัดส่วน 50-60% มีไว้เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่

พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ องค์กรใหญ่ มีความต้องการใช้พื้นที่ลักษณะนี้มากขึ้น เช่น สาขาสามย่านมิตรทาวน์ถูกขยายจาก 50% เป็น 75% เพื่อรองรับแค่กลุ่มดังกล่าว ขณะอนาคตเราจ่อเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา รวมอีก 1.2 หมื่นตร.. รับโอกาสจากดีมานด์ที่จะมีมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ นายคง วัน ลง ยังระบุด้วยว่า จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นอีกหนึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นชัดเจน โดยกลุ่มธุรกิจอื่นอาจมองเป็นวิกฤติ แต่กับโคเวิร์กกิ้งสเปซ คือโอกาส เพราะพบมีกลุ่มลูกค้าองค์กร มีความต้องการพื้นที่ทำงานแบบชั่วคราว ระยะการเช่าสั้น 1-2 เดือน ติดต่อเข้ามาหลายราย จากสาขาทำงานที่ถูกปิดไปแบบกะทันหัน

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15-18 มีนาคม 2563