รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 เหตุจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่ที่ไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ตามมติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทนฯ ข้อ 6 ที่ประธานกรรมการ กสทช. มีหน้าที่ต้องแต่งตั้งรองเลขาธิการโดยความเห็นชอบของ กสทช.เป็นผู้รักษาการแทน
โดยกรณีดังกล่าวเกิดจากมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ที่ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ฯ กับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จากกรณีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการกรณีสำนักงาน กสทช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ปรากฎว่าผู้รับใบอนุญาต IPTV จาก กสทช. ไม่สามารถถ่ายทอดได้และเป็นการผิดจากวัตถุประสงค์ของการให้เงินสนับสนุน และเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในระหว่างการสอบสวน เนื่องจากเป็นรองเลขาธิการ กสทช. ที่มีอาวุโสสูงสุด ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทนฯ แต่ต่อมากลับมีข่าวประชาสัมพันธ์ จากงานเลขานุการประธาน กสทช. ในทำนองการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ก่อให้เกิดคววามแตกแยกในหมู่พนักงาน กสทช. เกิดการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งประกาศว่า ประธาน กสทช. ยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ และยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ ให้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทน โดยนายไตรรัตน์ ยังเป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการ กสทช. ทุกประการ ซึ่งในระหว่างนั้น นายไตรรัตน์ ได้ลงนามคำสั่งต่างๆ ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. อยู่เช่นเดิมย้าย รวมถึงลงนามยกเลิกคำสั่งให้มีการสออบสวนตนเองอีกด้วย
ซึ่งนอกจาก ประธาน กสทช. จะไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 แล้ว ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่ราชการ ดังนั้น การกระทำของจำเลย (ประธาน กสทช.) จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นการประพฤติมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์) ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172