ช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งหยุดชะงัก แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ละภาคส่วนต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัว และเป็นอีกความท้าทายทางธุรกิจในการปรับตัว และยืนหยัดไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ท่ามกลางการแข่งขันของโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดน
ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การจัดงาน Creative Economy Forum Thailand 2022 ภายใต้หัวข้อเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปด้วยเทคโนโลยี ท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่” จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาคเอกชนอย่าง บริษัท เวรียนส์ แอนด์ พาร์ทเนอส์ จำกัด ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ TCDC กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวหน้า และให้ประชาชนมี ส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา “Soft Power” เพื่อส่งออกสู่ตลาดอาเซียน และตลาดโลก
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวเปิดงานว่า ประเทศต่างๆ ได้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้เป็นกลไกผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และความแตกต่างให้แก่สินค้า และบริการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power เพื่อใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก โดยทาง CEA ได้ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” ร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง เพื่อเตรียมผู้ประกอบการก้าวทันเทคโนโลยีของโลก พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดอาเซียน และตลาดโลก
อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19
เมื่อมองอนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า แม้ไทยไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ที่มีทั้ง Hard Power และ Soft Power แต่ไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ
“Thailand’s Soft Power มีรากฐานมาจาก DNA ของความเป็นไทย ใน 5 มิติ คือ คนไทยเป็นคนสนุกสนาน (Fun) มีวัฒนธรรมที่เปี่ยมรสชาติ (Flavoring) ชอบสร้างสีสันเติมเต็มกัน (Fulfilling) มีความยืดหยุ่น (Flexible) และเป็นมิตร (Friendly) และถูกเสริมด้วยความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม สะท้อนความเป็นไทยที่โดดเด่น เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าในตัวเอง จึงเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการผสมผสาน Place x People x Product”
ดร.สุวิทย์ มองว่าอนาคตไทยว่า Soft Power ต้องเป็นส่วนผสมระหว่าง High Tech กับ High Touch โดยนำพลังของเยาวชนมาเป็นผู้นำการขับเคลื่อน Soft Power ในมิติต่างๆ ให้เป็นอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญภาครัฐต้องกล้าคิด กล้าทำ ชัดเจน เอาจริงอย่างต่อเนื่อง หากดำเนินการตามนี้ไม่เกิน 5-10 ปี จะเห็นการพลิกโฉม ที่เกิดจาก Soft Power อย่างแน่นอน
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึง อนาคตอุตสหกรรม สร้างสรรค์ไทย โลกใหม่หลังโควิด-19 และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3 โลก คือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โลกเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) และโลกเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนไป ความต้องการแรงงานก็เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นที่คนไทยต้องมีการปรับตัวเพิ่มศักย์ภาพให้ตนเอง เพื่อให้เป็นที่ต้องการและรายได้ดี จึงต้องเพิ่มทักษะที่หลากหลายให้ทันโลก
ดัน Local Content สู่ Soft Power
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เอ่ยว่า มุมมองถึงประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ การส่งเสริมแนวคิดสร้างสรรค์ ต้องอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยในปี 2563 มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย มีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.58% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน
ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย พบว่าส่งผลให้นิติบุคคลสร้างสรรค์ไทยจำนวน 79,096 ราย มีผลประกอบการลดลง จำนวนธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรก็ลดต่ำลงด้วยเฉลี่ย 17.1% ธุรกิจที่ขาดทุนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 14% โดยกลุ่มมีกำไร ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม อาหารไทย ดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ทัศนศิลป์ แพทย์แผนไทย
“เราต้องการผลักดันเมืองไทยให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับโลก สำรวจว่าไทยมีศักยภาพด้านใด และพยายามติดต่อกับผู้เล่นในตลาดโลกเพื่อส่งออก มียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ยกระดับอัตลักษณ์ไทย ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดสากล ที่ต้องขายได้และขายดี” ดร.ชาคริต กล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดัน Local Content สู่การเป็น Soft Power ของประเทศได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการจัดทำนโยบายที่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยมี CEA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power
สิ่งที่ CEA จะทำต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้าง Soft Power โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ
“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ
ในมุมมองของผู้บริหารจาก 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คุณสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) และคุณธีรทัศน์ กรุงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ทุกคนเห็นตรงกันว่า ทักษะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นจำเป็นกับการขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กรทั้งสามแห่งนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่รวมเรื่องความคิดสร้างสรรค์และพยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้คนกล้าคิด กล้าทำ โดยคนสำคัญในการสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็คือผู้นำ ซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้โอกาส และรับฟังความคิดเห็น และในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน เอไอ เมตาเวิร์ส อีวี แต่ละองค์กรก็ต้องมองหาวิธีทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีมาใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรหรือแบรนด์ได้
ปิดท้ายงานเสวนาด้วยหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น “Soft Power” ที่ได้นักสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของประเทศไทยด้วย ดร. ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด คุณทิฆัมพร ภูพันนา นักสร้างสรรค์ตัวแทนกลุ่มหมอลำโฮโลแกรม ดร. กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ KORAKOT งานหัตถกรรมดีไซน์ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี บริษัท มวยไทย อ.กล้า จำกัด และรองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้สร้างแบรนด์ Karb Studio และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ มาให้ความรู้และมุมมองด้านนี้
จากเสวนาครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “Local Content” ที่เด่นชัดในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม อาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ ตลอดจนกีฬาแบบไทยๆ อย่างมวยไทย สิ่งเหล่านี้นับเป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ของชาติที่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการส่งออกแบบแพร่หลายในต่างประเทศ ยิ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการท่องเที่ยว การบริโภคสินค้าและบริการ การลงทุน หรือการพัฒนาแรงงานท้องถิ่นได้
จากงานศึกษาของ Netflix พบว่า หากเราดูภาพยนตร์จากประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นครั้งแรก เราจะถูกกระตุ้นให้รู้สึกอยากไปประเทศนั้นเป็นอันดับหนึ่งขึ้นอีก 2.4 เท่า การจะผลักดัน Local Content สู่การเป็น Soft Power ของประเทศได้ ภาครัฐต้องจริงใจในการให้สนับสนุนผ่านการจัดทำนโยบายที่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างแนบแน่น โดยมีเจ้าภาพหลักอย่าง CEA ซึ่งบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power ในภาพเดียวกัน