ประกันสังคมเตือนนายจ้างแจ้งเข้า-ออกลูกจ้างล่าช้า โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

16 ม.ค. 2568 | 18:50 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2568 | 18:52 น.

สำนักงานประกันสังคมเตือนนายจ้างแจ้งเข้า-ออกลูกจ้างล่าช้า มีโทษทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นายจ้างต้องแจ้งเข้า-ออกภายในกำหนดเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง พร้อมแนะนำใช้บริการระบบ e-Service สะดวกและรวดเร็ว

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า มีนายจ้างแจ้งลูกจ้างเข้าทำงานและแจ้งออกจากงานล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ เสียสิทธิที่พึงได้รับ หรือได้รับประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ สำนักงานประกันสังคมจึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการดำเนินการกับนายจ้าง ที่ได้มีการแจ้งเข้า - ออกล่าช้า หากพบว่านายจ้างมีเจตนาแจ้งเข้าออกล่าช้า ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งมีโทษทางอาญา คือ การเปรียบเทียบปรับ และโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ประกันสังคมเตือนนายจ้างแจ้งเข้า-ออกลูกจ้างล่าช้า โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

นางมารศรี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเตือนให้นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างทุกครั้งที่ลูกจ้างมีการเข้าทำงานภายใน 30 วัน และแจ้งออกจากงาน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ ขอความร่วมมือนายจ้างซึ่งมีลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03) สำหรับผู้ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาก่อน หรือขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำหรับผู้ที่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว โดยนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นแบบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำหรับนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ในส่วนภูมิภาคให้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้ นายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงาน พร้อมระบุสาเหตุการออกจากงาน โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากที่ลูกจ้างลาออกจากงาน

 

ประกันสังคมเตือนนายจ้างแจ้งเข้า-ออกลูกจ้างล่าช้า โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมยังมีช่องทางอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ e-Payment โดยนายจ้างสามารถใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว ได้แก่ งานขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) การแจ้งลาออก (สปส.6-09) การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) และการส่งข้อมูลเงินสมทบ (สปส.1-10) ซึ่งเมื่อนายจ้างทำการลงทะเบียนผ่านระบบเรียบร้อยแล้ว จะมี e – mail ตอบกลับให้พิมพ์แบบ สปส. 1-05 แล้วนำกลับมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขาก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะทำการอนุมัติ USER PASSWORD ให้แก่นายจ้าง โดยจะตอบกลับอัตโนมัติ หลังจากนั้น นายจ้างสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวก และรวดเร็วแก่นายจ้างในการชำระเงินสมทบ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา