กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

26 มิ.ย. 2565 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2565 | 21:06 น.
2.2 k

กฟผ. กางแผนสถานีชาร์จ “รถ EV” สิ้นปี 2565 นี้ เปิดให้บริการ กว่า 120 สถานี พร้อมจับมือ 3 หน่วยงานการไฟฟ้าฯ ศึกษาแพลตฟอร์มชาร์จไฟในบ้าน เล็งขยายฐานการผลิตต่อเนื่อง ลุยอัพเกรดแล็บทดสอบ หนุนผู้ประกอบการผลิตหัวชาร์จไฟฟ้า ลดการนำเข้า กระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity ช่วงเสวนา Panel Discussion : EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย ว่า กฟผ. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีความพร้อมส่งเสริมและสนับสนุน EV Ecosystem อย่างเต็มที่ ซึ่งโจทย์ที่สำคัญของ กฟผ. มีข้อเดียว คือ ทำอย่างไรให้คนอยากหันมาใช้ EV พร้อมร่วมมือกับ กฟภ. และ กฟน. ดูแลระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตของ EV โดยยืนยันว่าในระยะสั้น 5-10 ปี มีไฟฟ้าเพียงพอแน่นอน ทั้งนี้ 3 การไฟฟ้ามีกลไกการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ซึ่งจะคำนึงถึงปัจจัยของโหลดการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่ดูเพียงค่าเฉลี่ยทั้งปีเท่านั้น แต่จะดูช่วงพีคของซีซั่นด้วย โดยจะติดตามการเพิ่มขึ้นของโหลดตั้งแต่ที่หม้อแปลงของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไปจนถึงในระบบส่ง

กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ 3 การไฟฟ้า มีการหารือร่วมกัน โดยที่ประชุมมีมติให้ทั้ง 3 การไฟฟ้าศึกษาแพลตฟอร์มที่แสดงให้เห็นการชาร์จไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะการเก็บข้อมูลการชาร์จที่สถานีชาร์จไฟไม่ใช่เรื่องยาก แต่การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านจะทำอย่างไรให้รู้ เพราะเชื่อว่าพฤติกรรมของประชาชนจะชาร์จไฟที่สถานีชาร์จคิดเป็น 1 ใน 4 อีก 3 ส่วนเป็นการชาร์จไฟจากที่บ้าน คาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งเสริม EV Ecosystem ได้

 

กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

นายวฤต กล่าวต่อว่า กฟผ. ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า EleX by EGAT โดยไม่ได้คำนึงถึงแค่จำนวนสถานีเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ใช้ EV ซึ่งตั้งเป้าหมายภายในต้นปี 2566 ประชาชนจะสามารถเดินทางโดยใช้รถ EV ได้ทั่วประเทศทุกจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการให้มีสถานีชาร์จต้นแบบภายในสถานที่ราชการ โดยได้ติดตั้งสถานีชาร์จแห่งแรกแล้ว ณ กระทรวงการคลัง และมีแผนดำเนินการติดตั้งที่กรมธนารักษ์เป็นแห่งต่อไป ปัจจุบันได้ประสานงานกรมธุรกิจพลังงานเป็นที่ปรึกษาดูแลเรื่องความปลอดภัย เพื่อออกกฎระเบียบในการกำกับดูแล รวมทั้ง กฟผ. จะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลให้มีองค์ความรู้ในด้านกฎระเบียบและความปลอดภัยเกี่ยวกับ EV ซึ่งเป็นหนึ่งใน EV Ecosystem เช่นกัน

 

 

สำหรับแผนขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเปิดให้บริการกว่า 120 สถานี โดยประมาณ 80 สถานีจะเป็นสถานีชาร์จเร็วแบบ 2 หัวจ่ายหรือมากกว่านั้น และอีกประมาณ 40 สถานี จะเป็นการติดตั้งสถานีชาร์จบริเวณสำนักงาน ทั้งนี้ กฟผ. จะดำเนินการติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้าบริเวณลานจอดรถสำนักงานกลาง กฟผ. ราว 60-100 หัว แบบไม่ต้องใช้ตู้ชาร์จ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายสิ้นปีนี้ และเปิดให้บริการภายในต้นปี 2566

กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

“นอกจากสถานีชาร์จแล้ว กฟผ. ยังเป็นผู้จัดจำหน่าย (distributor) โฮมชาร์จเจอร์ ภายใต้แบรนด์ “Wallbox” ด้วย โดย กฟผ. ได้ร่วมกับ สวทช. พัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้า จากเดิมที่สามารถทดสอบได้เพียง 60 กิโลวัตต์ จะขยายการทดสอบเพิ่มเป็น 150 กิโลวัตต์ คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเริ่มเปิดใช้งาน เพื่อให้ผู้ที่สนใจผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าในไทยสามารถนำมาทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง”  

 

กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นายวฤต กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องแพลตฟอร์ม ทาง กฟผ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ (บอร์ด) อีวี ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมอีก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ,บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ EA  กฟภ. และ กฟน. ให้เร่งดำเนินการจัดทำแอพพลิเคชันที่เรียกว่าโรมมิ่งแบบเรียลไทม์ เพื่อรวมสถานีชาร์จของทั้ง 5 หน่วยงานไว้ในแอพพลิเคชันเดียว คาดว่าช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จ 

 

 

“เราเชื่อว่าพฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เข้าปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน หรือชาร์จไฟ แต่จะเป็นการเข้าไปใช้บริการต่าง ๆ พร้อมชาร์จไฟฟ้าแทน” ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ได้เปิดให้บริการแพลตฟอร์มแล้วเรียกว่า BackEN ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมใช้แพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่าง ๆ มากขึ้น ทางภาครัฐเองก็มีนโนบายสนับสนุนการลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าซึ่งขยายไปถึงปี 2565 โดยให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นเรทพิเศษกับสถานีชาร์จอยู่ที่ประมาณ 2.64 บาท ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน หากไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เป็นกิจการร้านค้า เช่น มหาวิทยาลัย, อพาทเมนท์,สำนักงาน, โรงแรม, รีสอร์ท, สนามกอล์ฟ เป็นต้น การลงทุนจะเป็นผลตอบแทนที่สะท้อนสู่กิจการ เป็นผลตอบแทนทางอ้อม 
 

 

 

นอกจากนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการในฐานะผู้ใช้ EV ซึ่งมีการจัดทำโปรแกรม เช่น บางกรวยกรีนคอมมูนิตี้,วินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้คนย่าน อ.บางกรวยไปทำงานที่สำนักงานโดยไม่ใช้น้ำมันได้แล้ว และ ภายในปี 2566 กฟผ. จะเปลี่ยนฟีตรถต้นแบบของผู้บริหาร กฟผ. เป็น EV ทั้งหมด โดยร้อยละ 70 ของรถผู้บริหารจะไม่มีถังน้ำมัน เพื่อเป็นต้นแบบของการเช่ารถ EV  

กฟผ. ดัน EV Ecosystem มุ่งขยายสถานีชาร์จ “รถ EV” รุกต้นแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนนโยบายพลังงานสะอาด นอกจาก กฟผ. ได้ปรับเปลี่ยนจากการใช้รถแบบน้ำมันเป็นการใช้รถ EV  ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงถึง 1 ใน 3 แล้ว เมื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในระบบไฟฟ้าด้วย จะยิ่งสามารถลดคาร์บอนมากขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามมาตรการ Triple S ประกอบด้วย Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น Hydro Floating Solar เขื่อนสิรินธร ซึ่งได้ขยายการผลิตไปยังเขื่อนอุบลรัตน์  รวมทั้งแหล่งผลิตต่าง ๆ และมีการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) ให้เป็นมิตรกับพลังงานหมุนเวียน Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน โดยการปลูกป่าและการทำคาร์บอนแคปเจอร์ และ Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น  โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ฯลฯ