"กฟผ." เริ่มจ่ายไฟผ่านสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เส้นแรกของใต้

21 พ.ค. 2565 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2565 | 19:59 น.

"กฟผ." เริ่มจ่ายไฟผ่านสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เส้นแรกของใต้ เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้สูงขึ้นกว่า 2 เท่า รองรับเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ เริ่มจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดัน 500 กิโลโวลต์ (kV) 

 

จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางสะพาน 2 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสิ้นสุดที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 รวมระยะทาง 504 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งจ่ายพลังไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้มากกว่า 2 เท่า จากเดิม 700 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 1,600 MW 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นเส้นทางการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าระดับแรงดันสูงสุด 500 kV เส้นแรกของภาคใต้

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ นี้ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสภาพระบบไฟฟ้าของภาคใต้ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน จึงจำเป็นต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 

 

กฟผ. จึงเสนอขออนุมัติโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เริ่มดำเนินการก่อสร้างระบบส่งระยะที่ 1 เมื่อปลายปี 2559 แล้วเสร็จ

 

กฟผ. เริ่มจ่ายไฟผ่านสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เส้นแรกของใต้

 

และสามารถส่งจ่ายไฟฟ้าได้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) คลี่คลาย ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดท่องเที่ยว 

 

โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงอันดับต้น ๆ ของภาคใต้ และเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ 

โดยช่วยเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟให้กับจังหวัดภูเก็ตได้สูงสุดถึง 1,170 MW

 

และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคใต้ ต่อกรณีสายส่งเชื่อมโยงภาคกลางมาภาคใต้เกิดขัดข้อง