เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ หวังจับมือตั้งบริษัทเทคโนโลยีบริษัทใหม่

22 พ.ย. 2564 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 18:54 น.

เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ หวังจับมือตั้งบริษัทเทคโนโลยีบริษัทใหม่ เตรียมแผนศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ – ดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค

กรุงเทพฯ (22 พฤศจิกายน 2564) – วันนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค 

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ 
 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation)  ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0  ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน”
 

“การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองกระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย”

“วันนี้ เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวตามแนวทางดังกล่าว โดยเราหวังว่า จะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพ ให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้” นายศุภชัยกล่าว

นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้น ขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม”

นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย
กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีความมุ่งมั่นและพันธกิจต่อทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่เราสามารถเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้”

นายเยอเก้นกล่าวว่า “บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,250 – 6,500 ล้านบาท) ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย” 

ถ้ามีการตกลงและทุกอย่างดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นได้ บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

ผู้ถือหุ้นทั้งหมดของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น มีทางเลือกในการที่จะรับคําเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer หรือ VTO) พร้อมกับส่วนต่างเพิ่มเติมในระดับที่น่าดึงดูดใจที่จะนำเสนอให้ด้วยหรือเลือกที่จะร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ต่อไปได้ 

ถ้ามีการตกลงและเดินหน้าความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional VTO) ภายใต้การดำเนินการครบตามเงื่อนไข เสนอให้กับผู้ถือหุ้นของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากนั้นจึงจะเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ทั้งนี้ ราคา VTO ของหุ้นดีแทค จะอยู่ที่ 47.76 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณ (Volume Weighted Average Price หรือ VWAP) ของหุ้นดีแทคในช่วงหนึ่งเดือน และราคา VTO ของหุ้นทรู คอร์ปอเรชั่น จะอยู่ที่ราคา 5.09 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคา VWAP ของหุ้นทรูในช่วงหนึ่งเดือน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นที่ตกลงกันคือ หุ้นทรู 10.221 หุ้น เท่ากับหุ้นดีแทค 1 หุ้น และเปอร์เซ็นต์การแบ่งสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทใหม่ของผู้ถือหุ้นหลักทั้งสองราย จะถูกกำหนดโดยผลลัพธ์ของ VTO

แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความใกล้ชิดกับการเจรจาในครั้งนี้ กล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ จะมองไปที่การศึกษาโอกาสด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างจริงจัง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเรื่องนี้จะ สามารถช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ สอดรับกับคาดการณ์ที่ว่า ต่อไปในยุคของเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เจเนอเรชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจะเป็นตัวสำคัญที่มาเสริมการส่งสัญญานและการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าหากต้องการทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาคได้สำเร็จ