อัยการสูงสุดฟันธง“ทักษิณ-เพื่อไทย”ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

19 พ.ย. 2567 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 11:49 น.
845

เปิดความเห็น “อัยการสูงสุด” สรุปคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หลังส่งความเห็นพร้อมผลการสอบถ้อยคำ คู่ความให้ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลนัดสั่ง “รับ-ไม่รับ” คำร้อง 22 พ.ย.นี้

วันนี้( 19 พ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ พรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

นอกจากนายไพรัช จะส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องเเละผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้ว ยังมีความเห็นเเจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง" จึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้

มีรายงานด้วยว่า เมื่อตอนที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับคำร้องจาก นายธีรยุทธ แล้ว ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุดเป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่ง

ทั้งนี้คณะทำงานมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง โดยแจ้งเหตุผล ว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ 

ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง เป็นอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่อง ไปยังอัยการสูงสุด  

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมลงมติและมีความเห็นว่าจะ “รับ-ไม่รับ”คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในวันศุกที่ 22 พ.ย. 2567 นี้ 

สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ใน 6 พฤติการณ์ดังนี้  

1. หลัง นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  

2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย 

3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  

6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567