ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนชี้ชะตา“รับ-ไม่รับ”คดียุบพรรคเพื่อไทย เป็น 22 พ.ย. 67

11 พ.ย. 2567 | 16:48 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2567 | 16:55 น.

ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนถกคำร้องปม“ทักษิณ”ล้มล้างการปกครองฯ อันจะนำไปสู่การยื่นยุบพรรคเพื่อไทย เป็นวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 ขณะที่ “อัยการสูงสุด”ตอบคำถามส่งถึงมือศาลแล้ว

ความคืบหน้าคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 นั้น

ล่าสุด แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำหนังสือส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่ากรณีดังกล่าว ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ 

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยด้วยว่า เดิมศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบยกคำร้องดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันพุธที่ 13 พ.ย. 2567 ว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

แต่เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจราชการต่างประเทศ รวมถึงการประชุมทุกวันพุธ ในวันที่ 20 พ.ย. ตุลาการก็มีภารกิจราชการในประเทศ ดังนั้น จึงจะมีความเห็นพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 

ก่อนหน้านั้น นายธีรยุทธ ผู้ร้อง ได้เดินทางไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อคณะทำงานของ อสส. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ขณะที่พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ส่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยไปให้ถ้อยคำ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 แต่ไม่ปรากฏ นายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 ไปให้ถ้อยคำต่ออสส.แต่อย่างใด 

กรณีนี้แม้ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง จะยังไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” แต่ถ้าศาลฯ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ 

ดาบสองที่จะตามมาก็คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” และ เอาผิดกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

และหากในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของ “รัฐบาลแพทองธาร”