KEY
POINTS
ภายหลัง เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ใช้สิทธิในฐานะประชาชน เข้ายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย(พท.) เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
โดย นายธีรยุทธ บรรยาย 6 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายดังกล่าว ประกอบด้วย
1.หลัง นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทย(พท.) เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย
3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง
6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567
ชำแหละ 6 คำร้องธีรยุทธ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ชำแหละ 6 ข้อกล่าวหาของ นายธีรยุทธ ที่มีต่อ นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า...
ตามที่ทนายความที่อ้างว่าเป็นอิสระท่านหนึ่ง ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) และ พรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 6 ข้อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าวนั้น ผมมีความเห็นดังนี้
คำร้องที่ 1 ผมเห็นว่าการที่อดีตนายกฯ ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ และการได้พักรักษาตัวต่อเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติให้ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 เป็นสถานที่คุมขัง อันถือได้ว่าอดีตนายกฯ ยังรับโทษถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีการกระทำใดที่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทตามที่กล่าวหา
คำร้องที่ 2 การเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล โดยตามคำร้องก็บรรยายเองว่า “อาจ” ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย ซึ่งหมายถึงยังไม่มีการกระทำ จึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้เลิกสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ
คำร้องที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ผู้มีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แก่ ส.ส. ส.ว. และประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ส่วนพรรคการเมืองไม่มีสิทธิยื่นญัตติ จึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้ผู้ไม่มีสิทธิเลิกการใช้สิทธิ
คำร้องที่ 4 การพูดคุยทางการเมืองเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (ถ้ามี) มิได้เกิดขึ้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ อันมีลักษณะเป็นสภากาแฟพูดคุยทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 36
ส่วนการลงมติเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นอำนาจและเอกสิทธิโดยเด็ดขาดของ ส.ส. ตามมาตรา 124 ไม่ใช่อำนาจของพรรคการเมือง และไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
คำร้องที่ 5 การคัดสรรผู้สมควรเป็นรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และอำนาจ (ไม่ใช่สิทธิ) ของนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจและหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้
คำร้องที่ 6 นโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มาจากหลายพรรคการเมือง รวม 36 คน แต่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมีรัฐมนตรีไม่ถึงครึ่งจึงครอบงำ ครม. ไม่ได้
คำร้องเลื่อนลอย-ไร้เหตุผล
“จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า คำร้องดังกล่าวเลื่อนลอย ไร้เหตุผล จับโยงกันไปมาอย่างสับสน ไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง เพราะพฤติกรรมตามคำร้องทั้ง 6 ข้อ บางเรื่องก็ไม่ใช่การใช้สิทธิ บางเรื่องก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสอง
และทุกเรื่องไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ แม้แต่น้อย แต่มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมและความไม่ปกติที่มาของผู้ร้อง ประกอบกับการเชื่อมโยงและดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง” นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ยื่นคำร้อง นายธีรยุทธ ได้ปฏิเสธว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ไม่ได้มีใครสั่งการ หรือรับงานใครมา แม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เคยรู้จัก หรือ พบหน้ากันมาก่อน แต่ยอมรับว่า ได้ไปขอคำปรึกษาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
ล้มล้างฯ ต้องกำลังดำเนินอยู่
เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ที่ออกมาชี้ว่า การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
ทั้งนี้แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตนได้นำมาจากความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน ได้เขียนไว้ในคำวินิจฉัยที่ 14/2564 เป็นการให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชน ในการติดอาวุธทางปัญญาว่า เหตุที่นายธีรยุทธ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย ให้หยุดครอบงำ ครอบครองพรรคเพื่อไทย ให้หยุดล้มล้างการปกครอง จะเข้าองค์ประกอบมาตรา 49 หรือไม่
"ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่เหวี่ยงแห ถึง 6 ประเด็นที่ทนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ" นายณัฐวุฒิ ระบุ
รอลุ้นศาลรับ-ไม่รับคำร้อง
สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ยื่นต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น เมื่อวันพุธที่ 16 ต.ค. 2567 ยังไม่มีวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาเบื้องต้นของ “คณะอนุกรรมการ” ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของตุลาการฯ ทั้ง 9 คน ว่า จะ “รับ-ไม่รับ” คำร้องไว้วินิจฉัย
ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่การพิจารณาของคณะตุลาการฯ จะไม่ทันภายในเดือน ต.ค.นี้ แต่คาดว่าคณะอนุฯ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการชุดใหญ่ได้ ไม่เกินกลางเดือน พ.ย.นี้
มารอลุ้นกันว่า ในที่สุดแล้ว “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะรับคำร้องของ “ธีรยุทธ” ที่ยื่นสอย “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่???