หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. เปิดโปง ตั้งคก.สอบที่ดินเขากระโดง ไม่ชอบ(จบ)

19 พ.ย. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 09:17 น.

การรถไฟฯ เปิดโปง คำสั่งกรมที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังแต่งตั้งกรรมการเพียง 4 คน ขาดผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้มติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนที่ดินรถไฟไม่มีผลบังคับใช้

ประเด็นร้อนที่ดินเขากระโดง หนังสืออุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งให้อธิบดีกรมที่ดิน ตอนหนึ่งระบุชัดเจนว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินไม่มีอำนาจวินิจฉัยแตกต่างจากคำพิพากษาศาล

ที่สำคัญระบุชัดว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีกรรมการเพียง 4 คน ขาดผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์ประกอบไม่ครบถ้วนตามกฎกระทรวง จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งและมติคณะกรรมการสอบสวนที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว พร้อมดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทุกชั้น

ต่อไปนี้คือรายละเอียดหนังสืออุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่นายวีริศ อัมระปาล ยื่นต่ออธิบดีกรมที่ดิน

การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ได้วินิจฉัยตอนหนึ่งว่า เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทกรม ในสังกัดของ กระทรวงมหาดไทย และมีหน้าที่ตามที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2ว่า ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่ดินของบุคคลและจัดการ ที่ดินของรัฐ... และข้อ 18 กำหนดว่า สำนักจัดการที่ดินของรัฐมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1)...

ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่พิพากเขากระโดง

(2) ดำเนินการ เกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน.....

จากข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า กรมที่ดินมีภารกิจหน้าที่ในการ คุ้มครองดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีหน้าในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 842-476/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563

ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตาม แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรำ กิโลเมตร์ 374+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2462

เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียง หินบริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดิน บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือ เป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว

และศาลปกครองกลางยังวินิจฉัยต่อไปว่า ประกอบกับเมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจาก คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวว่า อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งกรมที่ดินที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 200 หมู่ที่ 4 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ออกจากทะเบียน การครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดิน จำนวน 40 ฉบับของประชาชนจำนวนสิบห้าราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560

รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำ พิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวอ้างว่าเป็น การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งสองคดี และ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆ นอกเหนือจาก ที่ปรากฏเป็นข้อพิพาท ในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดังกล่าว อีกทั้งที่ดินตามที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวถึงมีฐานะเป็น ที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ ในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินกล่าว อ้างแต่อย่างใดไม่

จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางข้างต้นเห็นได้ว่า ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของ ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ที่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติ แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจ หรือดุลพินิจไปวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นซึ่งต่างไปจากคำพิพากษาของศาลได้อีก

คงมีเพียงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น

แต่เมื่อกรมที่ดินโตยอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิ ในที่ดินดังกล่าว ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

เมื่อกรมที่ดินเป็นผู้ออกเอกสารแสดงในที่ดินทับซ้อนกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นความ บกพร่องของกรมที่ดินที่ไม่ตรวจสอบระมัดระวังในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น และคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลจนศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายืนยันสิทธิในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว

กรมที่ดินโดยอธิบดี กรมที่ดินยังละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองรักษาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของรัฐ และเมื่อศาลปกครองกลางได้กำหนดแนวทางและวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา

คณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นโดยอธิบดีกรมที่ดินกลับมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดไว้ กลับเสนอความเห็นให้อธิบดีกรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอีกทั้งยังสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว

การกระทำและพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจดังกล่าวของคณะกรรมการสอบสวนและอธิบดี กรมที่ดิน จึงเห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และ อาจเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิที่มุ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟ แห่งประเทศไทย คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 และมติของคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นคำสั่งและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลแล้วว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่กรมที่ดินกลับ เห็นว่า การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดนั้น

เมื่อที่ดินบริเวณ ดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มาตามพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ซึ่งหวงห้ามที่ดินไว้ใช้ประโยชน์แห่งการรถไฟและมีอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน

การที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งให้คงเป็นที่หวงห้ามต่อไป

ข้อ 3 ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และการแจ้งคำสั่งทางปกครอง เมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนฯ พ.ศ. 2553 ข้อ 2 (1) (ข) กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมาย ที่ดินกรณีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับจังหวัดอื่น

ต้องประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือข้าราชการ สังกัดกรมที่ดินที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี หรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการและให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี ผู้ตรวจ ราชการกรมที่ดินแต่งตั้งข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป หรือ ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือ สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาเป็นกรรมการและเลขานุการ

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ 2(1) (ข) ของกฎกระทรวง ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการ รวม 5 คน แต่ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1395 -1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ได้แต่งตั้ง กรรมการเพียง 4 คนเท่านั้น โดยขาดกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่ กฎกระทรวงกำหนดไว้ ย่อมทำให้คณะกรรมการสอบสวนไม่อาจพิจารณาและมีมติใดๆ ได้ มติคณะกรรมการ สอบสวนที่เห็นควรไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและสั่งให้ยุติเรื่อง จึงไม่มีผลผูกพันและไม่อาจใช้บังคับได้

อธิบดีกรมที่ดินจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลางต่อไป

นอกจากนี้ คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามหนังสือ กรมที่ดินที่ มท.0516.2 (2)22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือ โต้แย้งต่อไปได้ แต่ในคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้

กลับระบุเพียง “หากการรถไฟ แห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป” ซึ่งเป็นเพียงการแจ้งสิทธิให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ถือเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่การแจ้งสิทธิเพื่ออุทธรณ์หรือโต้แย้ง คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ดังนั้น คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้ปฏิบัติให้ ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้

การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนสรุปว่า การเวนคืนที่ดินตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยกรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟเป็นไปตามพระราชโองการตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เพื่อเชื่อมต่อ กับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วที่ จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาในปี พ.ศ.2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทาง รถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาถึงตำบลท่าช้างจังหวัดนครราชสีมาเป็นช่วงแรก จึงได้มีการตรา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463

โดยได้กำหนดให้กรม รถไฟหลวงทำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดิน และคัดสำเนาเนาบัญชีรายชื่อท้ายพระราชกฤษฎีกาพร้อมด้วยแผนที่มอบ ไว้ ณ ที่ทำการกรมรถไฟหลวงในพระนคร ที่กระทรวงเกษตราธิการที่หอทะเบียนที่ดินทุก ๆ จังหวัด และที่ว่า การอำเภอ ซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจ เส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังจังหวัดสุรินทร์ อีกตอนหนึ่ง และได้มี การทำแผนที่แสดงแนวแขตที่ดินของกรมรถไฟไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการ จัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464

กรมรถไฟหลวงจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้าง ทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2466

พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463

พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 พร้อมแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และ อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟหลวง

ดังนั้น เมื่อการถไฟแห่งประเทศไทยรับโอนทรัพย์สิน ทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง การถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟใน ท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันพลเมืองในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป

กฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของ ที่ดินการถไฟแห่งประเทศไทยตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติ ฐานะยิ่งกว่าเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลัง

การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัย อุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือการแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1199-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ได้มีความเห็นและมติไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

และมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติให้ เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 และ คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยการมี คำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

ทั้งนี้ หากท่านพิจารณาแล้วไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิต่าง ๆ ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินในบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ขอให้ แจ้งยืนยันผลการพิจารณาโดยชัดแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบด้วยจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นายวีริศ อัมระปาล)

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย