หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม : คำพิพากษา 2 ศาล ที่ดินเขากระโดงเป็นสิทธิ์รฟท.(3)

15 พ.ย. 2567 | 14:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 18:48 น.

เปิดข้อเท็จจริงสำคัญในหนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม ของ รฟท. ถึง กรมที่ดิน ยกคำพิพากษาอีก 2 ศาล คือ “ศาลอุทธรณ์ภาค3” และ “ศาลปกครองกลาง” ชี้ชัดที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนที่ดินหลวงตาม พ.ร.บ. ปี 2464 (3)

หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม(3) ที่ “วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)" ยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดิน กรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หรือคดีที่ดินเขากระโดง 

ซึ่งหนังสืออุทธรณ์มีจำนวน ทั้งหมด 20 หน้า โดยท่อนหนึ่งของคำอุทธณ์ ได้นำคำพิพากษาของศาลอีก 2 ศาลศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลปกครองกลาง ยืนยันกรรมการสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงว่าเป็นของการรถไฟฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ปรากฏจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์กับนายวิรัตน์ วงศ์พิพัฒน์ชัย ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน จำเลย ซึ่งคำพิพากษาระบุไว้ตอนหนึ่งว่า 

"เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกา เอกสารหมาย จ.9 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 หมายถึงการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินซึ่งเป็นของเอกชนในส่วนนอกเขตแนวที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อเท่านั้น มิใช่การยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก ทั้งยังใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีด้วย

ย่อมถือว่าที่ดินและที่ดินพิพาท ตามแผนที่กรมรถไฟแผ่นดินฯ เอกสารหมาย จ.7 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เอกสารหมาย จ.4 อันเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า ที่ดินรถไฟ ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 มาตรา 3(2) ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดิน ตามมาตรา 25 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6(1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว"

 

คำพิพากษาศาลปกครองกลาง

และอีกท่อนหนึ่งในหนังสืออุทธรณ์ของ รฟท. ระบุถึง ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 24949/2564 คดีหมายเลขแดง ที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อธิบดีกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในบริเวณเขากระโดงไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำ ที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า

ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายโคราช-อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557"

หนังสือรฟท.ระบุว่า เมื่อข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา มติและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ดังที่ได้อ้างในอุทธรณ์ข้อ 1.1 ถึง 1.5 ข้างต้น ได้ผลสรุปสอดคล้องกันว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง ที่กรมที่ดินได้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกในที่ดินดังกล่าวบางแปลงซึ่งเป็นวัตถุพิพาทในคดีด้วยแล้ว อธิบดีกรมที่ดินเองก็ยอมรับในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการออกเอกสารสิทธิที่มีการยื่นคำขอจำนวน 35 รายกว่า 40 ฉบับ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงตามแนวเขตที่ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาไว้นั้น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเมื่อที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว คำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินอันเป็นคุณแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่ความในคดี ย่อมใช้ยืนยันแก่บุคคลภายนอกได้

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีย่อมถือได้ว่ามีความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน มีอำนาจสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และเป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดงและยังเป็นจำเลยในคดีที่มีการฟ้องร้องตามคำพิพากษาฎีกาที่ 842-876/2560 และยังเป็นคู่กรณีในคดีของศาลปกครอง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 คำพิพากษาของศาลที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีผลผูกพันและใช้ยันกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินให้ต้องปฏิบัติตามด้วย

อธิบดีกรมที่ดินจะมากล่าวอ้างว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงมิใช่ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้ เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีชื่อในเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและครอบครองที่ดินแต่ละแปลงจะไปดำเนินการใช้สิทธิทางปกครองและทางศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิของตนเองว่าตนเองมีสิทธิกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างไร

เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ก็เพื่อให้การดำเนินการพิสูจน์สิทธิในเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินนั้นเป็นไปโดยถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่มีข้อยุติว่าการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินออกมาโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งแล้วว่าที่ดินบริเวณที่กรมที่ดินออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงนั้น เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ดังนั้น กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวน ต้องยึดข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติดังกล่าวว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมิต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิสูจน์สิทธิอีก เพียงแต่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรังวัดแนวเขตว่าที่ดินที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น

เมื่อพิจารณาข้ออ้างของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่แจ้งความเห็นว่าไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ล้วนเป็นการยกข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ

ข้ออ้างตามข้อ 2.3 ที่อ้างคำให้การของกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ในลักษณะโต้แย้งแผนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อปี 2533 และปี 2539 ว่าเป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด (กปร.)

ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำไปอ้างในการต่อสู้คดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-476/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2561 ว่าเป็นแผนที่จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปแล้วประมาณ 900 กว่าแปลง และแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ ในที่พิพาทแต่อย่างใดและอ้างว่าตามมติที่ประชุม กปร. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินคดีทางศาลแก่ผู้บุกรุก โดยมิได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการจัดทำรูปแผนที่แต่อย่างใดนั้น