หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท.อัดกรมที่ดินใช้ดุลพินิจมิชอบคดีเขากระโดง (1)

14 พ.ย. 2567 | 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 16:19 น.
1.4 k

เปิดหนังสืออุทธรณ์ ผู้ว่าฯ รฟท. ยื่นคัดค้านกรมที่ดินกรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนบริเวณเขากระโดง ระบุอัดเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ พร้อมยกคำพิพากษาศาลฎีกายืนยันกรรมสิทธิ์ (1)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดินกรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หรือคดีที่ดินเขากระโดง จำนวน 20 หน้า โดยเห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่าตามหนังสือที่อ้างถึง อธิบดีกรมที่ดินได้แจ้งความเห็นของอธิบดีที่เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ว่า ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้ หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิในที่ดินกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไปนั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

จึงขออุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวน ตามประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

ข้อ 1. เหตุผลและวัตถุประสงค์ที่อธิบดีกรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566  ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ทั้งสองฉบับ ระบุว่า ด้วยความปรากฏว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน 44 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 18 ฉบับ ซึ่งออกโดยการเดินสำรวจ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 68 ฉบับดังกล่าว บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 222 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน 1195/2566) และด้วยความปรากฏว่า โฉนดที่ดินจำนวน 61 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 28 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 83 ฉบับ บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิที่ดิน

หนังสืออุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวน ของรฟท.สรุปว่า การเวนคืนที่ดินตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยกรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟเป็นไปตามพระราชโองการตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เพื่อเชื่อมต่อ กับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วที่ จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาในปี พ.ศ.2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทาง รถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาถึงตำบลท่าช้างจังหวัดนครราชสีมาเป็นช่วงแรก จึงได้มีการตรา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463

โดยได้กำหนดให้กรม รถไฟหลวงทำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดิน และคัดสำเนาเนาบัญชีรายชื่อท้ายพระราชกฤษฎีกาพร้อมด้วยแผนที่มอบ ไว้ ณ ที่ทำการกรมรถไฟหลวงในพระนคร ที่กระทรวงเกษตราธิการที่หอทะเบียนที่ดินทุก ๆ จังหวัด และที่ว่า การอำเภอ ซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจ เส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังจังหวัดสุรินทร์ อีกตอนหนึ่ง และได้มี การทำแผนที่แสดงแนวแขตที่ดินของกรมรถไฟไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการ จัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464

กรมรถไฟหลวงจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้าง ทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2466

พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2463

พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 พร้อมแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และ อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟหลวง

ดังนั้น เมื่อการถไฟแห่งประเทศไทยรับโอนทรัพย์สิน ทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง การถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในทางรถไฟสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟใน ท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันพลเมืองในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป

กฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของ ที่ดินการถไฟแห่งประเทศไทยตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติ ฐานะยิ่งกว่าเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลัง

การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัย อุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือการแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1199-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ได้มีความเห็นและมติไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

และมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติให้ เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 และ คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยการมี คำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

ทั้งนี้ หากท่านพิจารณาแล้วไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิต่าง ๆ ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินในบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ขอให้ แจ้งยืนยันผลการพิจารณาโดยชัดแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบด้วย

หนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดินกรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่เขากระโดง-1

หนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดินกรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่เขากระโดง-2