มหากาพย์“เขากระโดง”ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล

13 พ.ย. 2567 | 07:00 น.
1.1 k

หลังคณะกรรมการของกรมที่ดิน มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดง ที่ศาลชี้ว่าเป็นที่ของ รฟท. ทำให้การรถไฟต้องยื่นร้องไปที่ศาลปกครองอีกครั้ง และนำมาซึ่งความเห็นต่างของคนในรัฐบาลที่ต่างพรรคกัน : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4044

KEY

POINTS

  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  : เรื่องนี้มีความสำคัญหากเป็นที่ดินของ รฟท. แม้กระทั่งตารางวาก็จะเสียไปไม่ได้ 
  • ทวี สอดส่อง : ประเทศไทยถือว่าศาลฎีกาสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย จะไม่มีใครใหญ่กว่า 
  • อนุทิน ชาญวีรกูล : เท่าที่ผมทราบตระกูลชิดชอบ มีอยู่ 300 ไร่ แล้วอีก 4,700 ไร่ จะผิดแค่ 300 ไร่ ได้อย่างไร หากเป็นอย่างนั้นก็ไปพิสูจน์เอา
     

วันที่ 22 ต.ค. 2567 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติ “เอกฉันท์” ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของ รฟท. กว่า 5,000 ไร่ บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 

ก่อนหน้านั้น ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ดังกล่าว เพื่อพิจารณาหนังสือแสดงสิทธิที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่แยกเขากระโดง รวม 995 ฉบับ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

 

เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์และผู้รับมอบอำนาจของ รฟท. ได้ลงพื้นที่และจัดทำรังวัดที่ดิน จำนวน 5,083 ไร่ พร้อมส่งข้อมูลให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณา

ต่อมา อธิบดีกรมที่ดิน ได้ออกหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า รฟท. ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ยกเว้นกรณีที่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการสร้างทางรถไฟ ซึ่งจะไม่เกินข้างละ 40 เมตร โดย รฟท.ต้องเป็นผู้นำพิสูจน์ 

คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกโฉนดในพื้นที่ ต.เสม็ด และ ต.อิสาณ ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนให้พิจารณาว่า เอกสารดังกล่าวออกโดยผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง จึงเห็นควรยุติเรื่อง แต่ หาก รฟท. ยังยืนยันว่ามีสิทธิเหนือกว่า ต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ในศาลต่อไป 

มติดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่า ที่ดินของการรถไฟฯ ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์เป็น “น.ส.3-น.ส.3ก.-โฉนด” ครอบครองโดยกลุ่มนักการเมืองและเครือญาติในตระกูลใหญ่ จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวา ไม่โดนเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แม้แต่แปลงเดียว ทั้งๆ ที่ศาลสั่งให้กรมที่ดิน เร่งดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ

“เขากระโดง”ยังปิดฉากไม่ลง 

แต่ “มหากาพย์เขากระโดง” ที่มีจุดกำเนิดเริ่มมาตั้งแต่ 8 พ.ย. 2462 เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง จากนครราชสีมา ผ่านบุรีรัมย์ ถึง อุบลราชธานี ที่ทำท่าจะ “ปิดฉาก” ลงโดยกรมที่ดิน ก็ยังปิดลงไม่ได้  

เพราะเจ้ากระทรวงคมนาคม ที่คุม รฟท. อย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม จากพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 ว่า “เรื่องนี้มีความสำคัญหากเป็นที่ดินของ รฟท. แม้กระทั่งตารางวาก็จะเสียไปไม่ได้ จึงให้รฟท.ไปเช็คดู” 

นายสุริยะ ระบุว่า ได้รับรายงานว่า วันที่ 10 พ.ย. 2567 รฟท.ได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลาง แจ้งว่า อธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน ขอให้ศาลปกครองพิจารณา หรือ ไต่สวนกำหนดวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของ รฟท. และให้พิจารณามีคำสั่งในประเด็นต่างๆ ต่อไป

นายสุริยะ กล่าวว่า ผู้ว่า รฟท.ได้ทำหนังสือถึงกรมที่ดิน ยื่นคัดค้านหนังสือของอธิบดีกรมที่ดิน ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ซึ่งในนั้นระบุว่า เราต้องยื่นภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 พ.ย. และได้ส่งไปเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 11 พ.ย. 

“รฟท.รู้กฎหมายอยู่ จะไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินกว่า 900 แปลง ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ยังมีเวลา ยืนยันว่าจะดูให้รอบคอบ และเรื่องนี้ต้องดำเนินการตามกฏหมาย มันไม่ช้าอยู่แล้ว” 

ส่วนที่มองกันว่าที่ดินหลายแปลงในเขากระโดงเป็นของตระกูลชิดชอบ นายสุริยะ ตอบว่า ไม่อยากให้เรื่องขยายเป็นประเด็นการเมือง อยากให้ว่าไปตามกระบวนการ หรือ ทาง รฟท. เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เมื่ออธิบดีกรมที่ดินชี้มาแบบนี้ ทาง รฟท.เห็นว่าไม่ใช่ ก็ต้องพยายามรักษาสิทธิ์ของ รฟท.ไว้

ต้องยึดคำพิพากษาศาลฎีกา

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ กล่าว เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2567 ถึงกรณีดังกล่าวว่า คำสั่งศาลฎีกา ในประเทศไทยถือว่าศาลฎีกาสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย จะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา 

“ในเรื่องของคณะกรรมการฯ ก็ต้องไปตรวจสอบดู แม้แต่ศาลปกครองก่อนที่จะไปถึงตามมาตรา 66 ชี้ว่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว เราต้องอยู่ในหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมต้องมีข้อยุติ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดคือศาลฎีกา ก็ต้องยุติตามนั้น"

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกา ก็วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว ก็ถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟ ก็เป็นเรื่องของการรถไฟที่ต้องดำเนินการต่อ

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. พ.ต.อ.ทวี กล่าวย้ำว่า กระบวนการตามมาตรา 61 ยังไม่จบ กระทรวงคมนาคมก็มีสิทธิโต้แย้ง ขณะนี้ถือว่าอยู่ในกระบวนการ และเรื่องทั้งหมดใครจะไปเอาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมไม่ได้แล้ว 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เรื่องนี้ตนได้เคยอภิปรายในสภาไปแล้ว ขณะนี้อยากรักษาบรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทราบว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งที่ดินดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ นายสุริยะ จึงอยากให้สอบถามนายสุริยะ เพราะห่วงว่าหากพูดไปเกรงว่าจะหยิบบางประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็ทราบว่าประชาชนห่วงใยเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ประเด็นข้อกฎหมาย กระบวนการ ยังไม่จบ เชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

"อนุทิน"ชี้เป็นไปตามกฎหมาย 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ถึงกรณีที่ดินเขากระโดง ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฏหมาย ได้บอกกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอดว่า ให้ว่ากันตามเนื้อผ้า ว่ากันตามกฎหมาย และกฎระเบียบ ตนไม่มีแทรกแซง 

“ไม่ว่าผลการตัดสินนั้นจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ไม่มีช่องไหนที่จะมาบอกว่ารมว.มหาดไทย สามารถเพิกถอน หรือไม่เพิกถอน เพราะไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีเรื่องมันจบที่กรม จบที่คำสั่งศาล หากใครมีประเด็นก็ไปฟ้องศาล พื้นที่เขากระโดงมีพื้นที่ 5 พันกว่าไร่ เท่าที่ผมทราบตระกูลชิดชอบ มีอยู่ 300 ไร่ แล้วอีก 4,700 ไร่ จะผิดแค่ 300 ไร่ ได้อย่างไร หากเป็นอย่างนั้นก็ไปพิสูจน์เอา”

เป็นสิทธิ์การรถไฟฟ้องต่อ

ด้าน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวเช่นกันว่า ยังมีรายละเอียดอีกเยอะที่หลายคนไม่รู้ ซึ่ง รฟท. หรือประชาชนเอง ต้องทำการพิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจนว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ออกมาครอบคลุมคนทุกคนหรือไม่ หรือครอบคลุมเฉพาะคู่ความกันเอง และคำพิพากษานั้นถือว่าสิ้นสุดหรือไม่ เพราะบางครั้งหากมีหลักฐานใหม่เข้ามา ก็จะต้องนำกลับไปพิจารณาใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ

“เราได้จัดตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ซึ่งได้มีการพิจารณาไปแล้วว่า กรมที่ดินยังไม่ได้เพิกถอนโฉนดพื้นที่เขากระโดง แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์การรถไฟ แต่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น เพราะการรถไฟยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะทำให้คณะกรรมการสามารถเพิกถอนได้ ครั้งนี้ก็เป็นสิทธิ์ของการรถไฟที่จะไปฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป”

พร้อมชี้ว่า “คำพิพากษาของศาลฎีกา หากอ่านดีๆ จะพบว่ามีฎีกาทับฎีกาอยู่เสมอ ในโอกาสที่จะมีหลักฐานใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน แต่จากคำพิพากษาผมก็เข้าใจ”

                              มหากาพย์“เขากระโดง”ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล

ปัดฟอกขาวเขากระโดง

วันที่ 11 พ.ย. 2567 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวยืนยันว่า ทำตามคำสั่งศาลปกครอง, ทำตามข้อกฎหมายไม่มีส่วนใดใช้เรื่องดุลยพินิจ และ ทำไปตามข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐาน และกฎหมายที่ชัดเจน 

เมื่อถามว่าผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย อยู่ในพรรคภูมิใจไทย จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการฟอกขาวหรือไม่ นายพรพจน์ กล่าวว่า ยืนยันกระบวนการที่ดำเนินมาทำตั้งแต่ก่อนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะเข้ามา การตั้งคณะกรรมการมีการตั้งก่อน และการหาเอกสารพยานหลักฐานในการดำเนินการก็ทำมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย

เชื่อไม่เป็นปัญหาพรรคร่วมฯ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีข้อโต้เถียงที่ดินเขากระโดง จะทำให้เกิดความระหองระแหงภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ทุกเรื่องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครต้องว่ากันตามกฎหมาย 

“ต้องดูรายละเอียดก่อน เพราะเรายังไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด ถ้าในข้อเท็จจริงและกฎหมายเป็นอย่างไร ต้องดำเนินการไปตามนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรที่กฎหมายกำหนดได้” นายภูมิธรรม ระบุ

ปมปัญหาการครอบครองที่ดิน “เขากระโดง” หากมองลึกๆ จะเห็นถึงความแตกแยกทางความเห็นของคนในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างฝ่ายเพื่อไทย+ประชาชาติ กับ ภูมิใจไทย

และเชื่อว่าจะเป็นไปอยู่แบบนี้อีกนาน จนกว่ากรณีครอบครองที่ดิน “เขากระโดง” จะไคลแม็กซ์