ปิดตำนาน“บิ๊กโจ๊ก”แมว 9 ชีวิต หมดสิทธิ์คัมแบ็กตำรวจ?

13 พ.ย. 2567 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 16:13 น.
871

ปิดตำนาน“บิ๊กโจ๊ก” แมว 9 ชีวิต หมดสิทธิ์คัมแบ็กตำรวจ? หลังศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องคำสั่งให้ออกจากราชการตำรวจไว้ก่อน กรณีถูกกล่าวหาว่าพัวพันเว็บพนันออนไลน์ : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ 13 พ.ย. 2567 นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด นำคดีหมายเลขดำที่ ฟ.117/2567  ที่ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ยื่นฟ้อง  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.), นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

มีรายงานว่า  ในการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าว องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน ได้สรุปสำนวนคดีและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 

โดยที่ประชุมได้เปิดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแต่ละคน ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการลงมติชี้ขาด  และให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวนเขียนคำพิพากษาต่อไป  

ภายหลังการประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เข้าร่วมการประชุม ส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธที่จะเปิดเผยผลการประชุม โดยให้เหตุผลว่า การประชุมเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้  ต้องรอให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน ดำเนินการออกเป็นคำสั่ง หรือ คำพิพากษาต่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวเท่านั้น และองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวนยังไม่ได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และสั่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีมติยกคำร้องคดีดังกล่าว โดยชี้ว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์หักพาล ออกจากราชการนั้นชอบแล้ว

ย้อนที่มาที่ไปวิบากรรมบิ๊กโจ๊ก 

ย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งที่ 178/2567 สั่งให้ข้าราชการตำรวจ 5 นาย รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน 

โดยมีสาเหตุจากข้อกล่าวหาว่า ข้าราชการตำรวจเหล่านี้มีส่วนพัวพันกับการฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ชื่อ BNKMASTER ซึ่งนำไปสู่การสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาคดีนี้อย่างเร่งด่วน

คำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” เกิดขึ้นตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรง หรือถูกดำเนินคดีอาญา อาจถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการ และเพื่อให้กระบวนการสอบสวนสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ถูกกีดขวาง 

ข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การสั่งออกจากราชการไว้ก่อนระบุว่าข้าราชการตำรวจทั้ง 5 นายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ BNKMASTER โดยระบุว่า 

พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และพรรคพวกได้ใช้บัญชีธนาคารของบุคคลอื่นในการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ รวมถึงมีการโอนเงินผ่านบัญชีที่เป็นของ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รอง ผกก.ป.สภ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีนี้ ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องทุกคนในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันกระทำผิด

ในวันเดียวกันกับที่มีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง ตร.ที่ 179/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งนำโดย พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีภารกิจในการสอบสวนและพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ 

คณะกรรมการได้ถูกแต่งตั้งเพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียดในทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา รวมถึงการสอบสวนเพิ่มเติม หากพบว่า มีการกระทำผิดในลักษณะอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเดิม
ขณะที่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 “บิ๊กโจ๊ก” ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยอ้างว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้ใช้ดุลพินิจอย่างเหมาะสม 

ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 มีความเห็นว่า การสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อนหากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้น และความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากข้าราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม

18 เม.ย. 67 พ้นรอง ผบ.ตร.

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ก.พ.ค.ตร. ได้ออกแถลงการณ์วินิจฉัยคำอุทธรณ์ โดยยืนยันว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 เป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ก.พ.ค.ตร. ยังชี้ชัดว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมาย และกฎ ก.ตร.

กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม  2567 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

เส้นทางบิ๊กโจ๊ก :

สำหรับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล เกิดที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2513 ปัจจุบันอายุ 54 ปี  เป็นบุตรของ นายดาบตำรวจ ไสว และ นางสุมิตรา หักพาล สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์) 

สำเร็จการศึกษาในชั้นอนุบาล โรงเรียนกลับเพชรศึกษา ซึ่งมารดาเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนนี้ สำเร็จการศึกษาในชั้นประถม โรงเรียนวิเชียรชม สำเร็จการศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31  

ระดับชั้นปริญญาตรี : รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47 เป็นหัวหน้านักเรียนของนรต.รุ่น47

ระดับปริญญาโท :  สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนได้เป็นอันดับ 1 

ระดับปริญญาเอก : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 

ศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคค่ำ (นอกเวลาราชการ) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน                          

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังจบหลักสูตร และ รับมอบประกาศเกียรติบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 21 (ปปร.21) จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสถาบันพระปกเกล้า จาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปัจจุบันกำลังศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร ว.ป.อ.ปีการศึกษา 2565

นอกจากนี้ "บิ๊กโจ๊ก" ยังมีบทบาทในตำแหน่งอื่นๆ ดังนี้ 

นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

รองผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปราม

การค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อดีตที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สบ.9)

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)

ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ ผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
                 
เส้นทางราชการตำรวจ: 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เริ่มต้นรับราชการตำรวจ ยศ "ร.ต.ต." เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย

ต่อมาเป็น สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2543 และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2545 

จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อ วันที่ 11 ก.ค. 2546 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2547

ระดับผู้กำกับการ :  

หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พันตำรวจเอก พ.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งวันที่ 7 ก.ย. 2552 จึงได้เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2554 ได้เป็น ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล  

ในวันที่ 5 เม.ย. 2555 ถูกส่งไปเป็น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้

ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ : 

ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 2558 พ.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พลตำรวจตรี ในตำแหน่ง ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 

จนในวันที่ 30 ต.ค. 2558 ได้เป็น ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว กระทั่งวันที่ 1 ต.ค. 2559 ได้เป็น ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ก่อนที่วันที่ 6 ก.ย. 2560 เข้าทำหน้าที่ รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็น รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในวันที่ 1 ต.ค. 2560 

ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. 2561 พล.ต.ต.สุรเชชษฐ์ ได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พลตำรวจโท และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  

กระทั้งวันที่ 5 เม.ย.2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท.สุรเชชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย 

วันที่ 9 เม.ย. 2562 มีคำสั่งฟ้าผ่าที่สอง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ บิ๊กโจ๊ก ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกเพิ่มรายชื่อในบัญชีเพื่อได้รับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องด้วยมีมูล ถูกกล่าวหา เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือ ประพฤติมิชอบ 

วันที่ 6 ม.ค. 2563 รถยนต์ส่วนตัวของบิ๊กโจ๊ก ถูกยิง สื่อหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการที่บิ๊กโจ๊ก ออกมาเปิดโปงการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถตรวจการณ์ไฟฟ้า ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ครั้งนั้น มีคลิปเสียงหลุด ที่อ้างว่า เป็น พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สั่งยิง จนถูกสำรองราชการ  

หลังจากนั้น “บิ๊กโจ๊ก” ได้ลากิจไปบวชที่อินเดีย เป็นเวลา 9 วัน และกลับมาใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในชีวิตข้าราชการพลเรือนไปถึง 2 ปีเต็ม                
ถัดมาในปี 2564 บิ๊กโจ๊ก กลับมาผงาดอีกครั้ง เลื่อนจาก ที่ปรึกษา (สบ 9) สตช. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ถือเป็นตำรวจอีกหนึ่งนาย ที่ขยับขึ้นเป็นระดับนายพลในเวลาอันรวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะขยับเป็น รอง ผบ.ตร. เพราะการเลื่อนเป็นไปตามลำดับอาวุโส โดยในปี 2565 ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ที่ว่างลงถึง 4 ตำแหน่ง จึงมีชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อยู่ด้วย 

“บิ๊กโจ๊ก” เริ่มกลับมาทำผลงานในหลายคดี และด้วยบุคลิกเวลาแถลงข่าว หรือสัมภาษณ์ จะเป็นไปแบบนุ่มนวล เขาจึงได้รับฉายาจากสื่อว่า “โจ๊กหวานเจี๊ยบ”   

การเกษียณอายุราชการของ “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ในวันที่ 30 ก.ย. 2566  “บิ๊กโจ๊ก” มีชื่อเป็น 1 ใน 4 แคนดิเดตที่จะมีโอกาสขึ้นเป็น “ผบ.ตร.คนที่ 14”  

บิ๊กโจ๊ก จึงเริ่มขยับทำผลงานอีกครั้ง โดยเฉพาะคดี “กำนันนก” สั่งยิง “ตำรวจทางหลวง” ที่ออกตัวทำคดีอย่างเต็มตัว แต่สุดท้ายฟ้าผ่าอีกครั้ง เมื่อ ผบ.ตร.มีคำสั่งให้โอนคดี “กำนันนก” ไปให้กองปราบรับช่วงต่อแทน 

ก่อนที่ฟ้าจะผ่าเปรี้ยงใหญ่อีกครั้ง กับปฏิบัติการถูกบุกค้นบ้านช่วงฟ้าสางในวันที่ 25 ก.ย. 2566 โดยอ้างตำรวจใกล้ชิดพัวพันเว็บพนันออนไลน์ ในช่วงใกล้ก่อนจะมีการคแต่งตั้ง “ผบ.ตร. คนที่ 14” เพียง 3 วัน

สำหรับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หากอยู่ในราชการตำรวจ มีอายุราชการยังยาวไกลไปถึงปี 2574

แต่เมื่อมาเจอมรสุม “ให้ออกจากราชการตำรวจ” และ ศาลปกครองสูงสุดยืนยันแล้วว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการนั้นชอบแล้ว

หนทางที่ “บิ๊กโจ๊ก” เจ้าของฉายา “แมว 9 ชีวิต”  จะหวนคืนอาชีพราชการตำรวจอีกครั้ง ดูเหมือนจะปิดประตูตายไปเสียแล้ว???