ด่วน โปรดเกล้าฯ ให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นตําแหน่ง รองผบ.ตร. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2567

15 ส.ค. 2567 | 18:33 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 18:39 น.

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล พ้นจากตําแหน่งรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการตํารวจพ้นจากตําแหน่ง ระบุว่า 

ด้วยสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้มีคําสั่งให้ พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล ข้าราชการตํารวจ ตําแหน่ง รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน 

คลิกดูจากราชกิจจานุเบกษา

และขอให้นําความ กราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตําแหน่ง ตามมาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๗๙ แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกอบข้อ ๑๑ ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการ สั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. ๒๕๔๗ 

และสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตําแหน่งแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗

ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรี

                  ด่วน โปรดเกล้าฯ ให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นตําแหน่ง รองผบ.ตร. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2567

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)  และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. ออกมาเปิดเผยถึงผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ร้องทุกข์ของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งมีการพิจารณาลงมติว่าการลงนามคำสั่งดังกล่าวที่ลงนามโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

ก.พ.ค.ตร.ได้ประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เป็นที่สนใจและมีคำวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล โดยได้ส่งคำวินิจฉัยไปให้ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์ทราบ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับคำวินิจฉัยแล้ว

พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ได้อุทธรณ์ว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 ที่สั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พิจารณาและวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำขออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก.พ.ค.ตร.ได้พิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามกฎ ก.พ.ค.ตร.ว่าด้วยอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2567 ซึ่งกำหนดให้ใช้วิธีการไต่สวนและได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนแล้ว

ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ คำขอคุ้มครองชั่วคราว คำชี้แจงของผู้อุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ คำชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และการแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่า

ผู้อุทธรณ์ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา และถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คู่กรณีในอุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 105 มาตรา 107 มาตรา 131 และมาตรา 179 ประกอบกฎ ก.พ.ค.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2567 ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

วินิจฉัยว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และกฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัยยกอุทธรณ์ และยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวของผู้อุทธรณ์

ทั้งนี้ หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีการยื่นฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือยื่นฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนี้