จาก“เสรีพิศุทธ์”ถึง“บิ๊กโจ๊ก”พลิกแฟ้มคดีศาลปกครองคืนความเป็นธรรมตำรวจ

12 ส.ค. 2567 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2567 | 18:08 น.

“บิ๊กโจ๊ก”ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเดินตามรอยรุ่นพี่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์”พึ่งศาลปกครอง เพื่อกู้คืนชีวิตข้าราชการตำรวจ ที่มีตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นเดิมพัน หลัง ก.พ.ค.ตร.ฟันธงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลังจาก เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ว่า คำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ บิ๊กต่าย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ขณะนั้น เซ็นคำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยที่ “บิ๊กโจ๊ก” เหลือหนทางเดียวที่จะกู้คืนชีวิต “ข้าราชการตำรวจ” โดยมีตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นเดิมพัน คือ การยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครอง

 

ก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. ก็มีชะตากรรมไม่ต่างจากบิ๊กโจ๊ก เพราะเคยถูกสั่งให้ออกจากราชการเหมือนกัน ในสมัยที่เป็น ผบ.ตร.

“ในสมัยที่ผมโดนให้ออกจากราชการ ตอนนั้นยังไม่มี ก.พ.ค.ตร.  จึงต้องไปร้องศาลปกครอง ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี เพราะสู้กันตั้งแต่ชั้นต้นและชั้นสูงสุด พอชนะคดีก็ถึงเวลาเกษียณไม่มีโอกาสกลับมาเป็น ผบ.ตร.แล้ว ทั้งยังฟ้องกลับ นายสมัคร สุนทรเวช (นายกฯ ขณะนั้น) ไม่ได้เพราะเสียชีวิตไปก่อนแล้ว”

 

แต่กรณีของบิ๊กโจ๊ก การต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ก็น่าจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 3 ปี หากศาลตัดสินให้ชนะ ก็ยังมีเวลากลับมาเป็นผบ.ตร.ได้” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลัง ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัยในคดีบิ๊กโจ๊ก

“ฐานเศรษฐกิจ” พาไปย้อนดูคดีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หลังถูกให้ออกจากราชการ ในสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และศาลปกครองวินิจฉัยให้เป็นผู้ชนะคดี 

โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ศาลปกครองกลาง โดย นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ อ่านคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในการประชุมครั้งที่ 18/2551 เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2551 ที่ยกคำร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผบ.ตร. ที่ร้องทุกข์คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 

ที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 294,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

คดีนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี สตช. ก.ตร. คณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ และสำนักงาน ก.ตร. ในคดีหมายเลขดำที่ 1413/2551 เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2551 และในคดีหมายเลขดำที่ 1924/2551 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2551 สรุปว่า

นายกรัฐมนตรี (สมัคร สุนทรเวช) ในขณะนั้น มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถูก พ.ต.อ.ทินกร มั่งคั่ง พ.ต.ท.ศิริวัฒน์ โมรานนท์ และ บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลส์ จำกัด กล่าวหาร้องเรียนว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตในโครงการเช่าซื้อรถยนต์ สตช. มีพฤติการณ์ใช้ถ้อยคำมิบังควร และไม่เหมาะสม หมิ่นเบื้องสูง และดำเนินการบริหารงานบุคคลโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

รวมทั้งขอให้ศาลสั่งนายกรัฐมนตรี และ สตช. ร่วมชดใช้ค่าเสียหาย อันเกี่ยวเนื่องกับคำสั่งดังกล่าว แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ซึ่งต่อมา ศาลมีคำสั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา

ทั้งนี้ ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลสั่งให้ข้าราชการ ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้ แต่การใช้อำนาจดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นเหมาะสม และประโยชน์ของหน่วยงานเป็นสำคัญ จะต้องไม่กระทำโดยมีอคติ หรือเจตนากลั่นแกล้งข้าราชการผู้ถูกย้ายให้ได้รับความเสียหาย

แต่จากบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0101/31 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 ไม่ปรากฏว่า มีการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงในการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่า มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าประโยชน์ที่ตกแก่ประชาชนอย่างไร 

หากแต่อ้างว่า ถ้ายังให้อยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณา หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใน สตช. ขึ้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใน สตช.หรือไม่ ประการใด

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งดังกล่าวในวันเดียวกับการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โดยอ้างว่า จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ทั้งที่ยังไม่มีการเริ่มสอบสวนพิจารณาแม้แต่น้อย เท่ากับเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ หรือ ไม่มีเหตุอันสมควร 

คำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

แต่โดยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 คำสั่งดังกล่าวจึงสิ้นผลไปแล้ว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่า คำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น มติคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ ในการประชุมครั้งที่ 18/2551 เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2551 ที่ยกคำร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. 2551 จนถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2553 รวมระยะเวลา 30 เดือน ไม่อาจหาหลักฐานมารับฟังจนน่าเชื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมแสดงว่า การดำเนินการทางวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์

การที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดแก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แต่การที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 สตช.จึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของ นายกรัฐมนตรี ด้วยการชดใช้ค่าเสียหายทดแทนเงินประจำตำแหน่ง แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2551 เป็นเงิน 294,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไป

ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ ในการประชุมครั้งที่ 18/2551 เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2551 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีที่ร้องทุกข์คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้ สตช.รับผิด ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 294,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

จากบทเรียนคดีของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” มาถึงกรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” มารอลุ้นกันยาวๆ 2-3 ปี ว่าในที่สุดแล้ว “แม้วเก้าชีวิต”ผู้นี้ จะมีชีวิตในอาชีพราชการตำรวจต่อไป เป็น “แม้วสิบชีวีต” หรือไม่...