7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล

21 ก.ค. 2567 | 07:00 น.
725

7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล :รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4011

KEY

POINTS

 

  •  7 ส.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา “พรรคก้าวไกล” หลังใช้เวลาพิจารณาและรวบรวมข้อมูล 127 วัน ตามคำร้องขอของ กกต.

 

  • หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล จะส่งผลให้ 11 กก.บห. นำโดย “พิธา-ชัยธวัช” ต้องเว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี 

 

  • ผลที่จะตามมาอีกคือ เป็นสารตั้งต้นให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีจริยธรรมร้ายแรงกับ 44 ส.ส.ของพรรค ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม. 112 อันมีโทษร้ายแรงเว้นวรรคการเมืองตลอดชีวิต
     

7 สิงหาคม 2567 นี้ ถือเป็นบทสรุปสำหรับคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนิ่นนานมากว่า 4 เดือน เพราะนับตั้งแต่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 จวบจนถึงวันที่นัดตัดสิน รวมระยะเวลาได้ 127 วัน

ความชัดเจนของวันตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาปรึกษาหารือในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี 

เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567  

7 ส.ค.ชี้ตายุบก้าวไกล 

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันพุธที่ 24 ก.ค. 2567 

ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่น ให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลต่อไป และศาลกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00 น. 

                            7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล

 

2แนวทางชี้คดีก้าวไกล

สำหรับความเป็นไปได้ในผลคำวินิจฉัยของศาล ที่จะออกมานั้น มี 2 แนวทางคือ 

1.ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง

 2.ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา 

11กก.บห.ส่อเว้นการเมือง

ผลที่จะตามมาหากศาลมีมติให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” คือ “กรรมการบริหารพรรค” ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาแก้ ม.112 อ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 จำนวน 11 คน จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี

โดยเป็นชุดที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (พ.ศ.2563-2566) และ ชุด นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (พ.ศ.2566) ประกอบด้วย

1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ

6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห. สัดส่วนภาคใต้ 7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห. สัดส่วนภาคกลาง 8.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออก 9.อภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.พรรค สัดส่วนปีกแรงงาน 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ (ชุด ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค) 

                                          7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล                         

 

สารตั้งต้นฟันจริยธรรม 44 ส.ส.

ผลกระทบต่อมาคือ จะเป็น “สารตั้งต้น” นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ร่วมลงชื่อยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย ม.112 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ซึ่งขณะนี้มีคำร้องคาอยู่ที่ ป.ป.ช.แล้ว  

โดยโทษตามความผิดจริยธรรมร้ายแรงคือ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ 

สำหรับ 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลดังกล่าว ประกอบด้วย

1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี 5.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ

6.นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.

11.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 12.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก 14.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

16.นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. 19.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม

                  7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล                                      

 

21.นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22.นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23.นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. 24.นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.สมุทรสาคร 25.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา

26.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี 27.นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 28.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29.นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30.นายองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 32.นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 33.นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด 34.นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 35.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

36.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 37.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 38.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39.นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

41.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 42.นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ 43.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44.นายสุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

                              7 สิงหาคม 2567 อะไรจะเกิดขึ้น หากยุบพรรคก้าวไกล                                  

 

ขุนพลแถว 3 รอออกศึก 

นอกจากนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกก็คือ หากก้าวไกลถูกยุบพรรค และ กก.บห.ถูกตัดสิทธิ จะมีการโอนถ่าย ส.ส.-สมาชิกที่เหลืออยู่ ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว ซึ่งอาจเป็นพรรคขนาดเล็กที่อยู่ในขั้วฝ่ายค้าน แล้วมีการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรค “ก้าวใหม่” หรือไม่

โดยที่ไม่ต้องตั้งพรรคขึ้นใหม่ เพียงแค่เลือกหัวหน้าพรรค และ กก.บห. จัดวางผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนพรรคต่อไป 
สำหรับขุนพลแถว 2-3 ที่มีสำรองไว้ อาทิ  ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค, เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ 

นอกจากนี้ยังมี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม,สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, หมอวาโย-วาโย อัศวรุ่งเรือง, รอมฎอน ปันจอร์, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วรรณวิภา ไม้สน, จุลพงศ์ อยู่เกษ 

แม้กระทั่ง พิจารณ์ เชาวพัฒวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มือทำงานที่อยู่หลังบ้านพรรคก้าวไกลไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล, เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล, ลิซ่า-ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล  

7 ส.ค.นี้ มารอลุ้นกันว่าในที่สุดแล้ว “พรรคก้าวไกล” จะต้องปิดฉากลงตามรอย “พรรคอนาคตใหม่” ไปอีกพรรคหนึ่งหรือไม่?

และหากถูกยุบพรรค “เอฟเฟกต์” ที่ตามมาจะมีมากน้อยแค่ไหน