เปิดประวัติ“สุรพล นิติไกรพจน์”พยานปากสำคัญ“ก้าวไกล”สู้ศาลรธน.ยุบพรรค

13 ก.ค. 2567 | 15:32 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2567 | 17:02 น.
1.6 k

เปิดประวัติ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นักกฎหมายมหาชน พยานปากสำคัญของ“ก้าวไกล”ที่ยื่นต่อศาลรธน. คัดค้านการยุบพรรค : รายงานพิเศษ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

 

  • ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นักกฎหมายมหาชน เป็นพยานปากสำคัญ 1 ใน 11 ของ“ก้าวไกล”ที่ยื่นต่อศาลรธน.สู้คดียุบพรรค

 

  • ศ.ดร.สุรพล ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล กกต.ไม่อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 มาเป็นฐานยื่นยุบพรรคได้ เนื่องจากเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกัน

 

  • ศ.ดร.สุรพล เรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรุณาใช้มโนธรรมและความรัก ความห่วงใยในประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิฉัยชี้ขาดคดีนี้ 

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาต่อ คดียุบพรรคก้าวไกล ในวันพุธที่ 17 ก.ค. 2567 นี้ 

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้มีการยุบพรรคก้าวไกล  

นายชัยธวัช เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลได้ยื่นพยานบุคคลทั้งหมด 10 ปาก และได้มายื่นบันทึกถ้อยคำเพิ่มอีก 1 ปากคือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน และที่ปรึกษาของ กกต. 

“มั่นใจในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เราต่อสู้ ยืนยันว่าไม่หนักใจ  แต่หลังจากยื่นพยานหลักฐานในวันนี้แล้ว คาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดการไต่สวน ตามพยานหลักฐานพรรคก้าวไกลที่ได้เสนอไป” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ

“สุรพล”ค้านยุบพรรคก้าวไกล

ต่อมา วันที่ 12 ก.ค. 67 พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่ความเห็น 4 ประเด็นของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน พยานปากสำคัญ

สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 

- กกต.มีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วย ก.ม. เพราะไม่กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ต้องถูกเพิกถอนไป

- กรณีที่ กกต. เห็นว่า ม.92 คือช่องทางยื่นยุบพรรคช่องทางหนึ่ง และ ม.93 คืออีกช่องทางหนึ่ง ส่งผลให้การเสนอคำร้องยุบพรรคมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกัน 

แบบที่หนึ่ง ไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหา-ชี้แจง แบบที่สอง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหา-ชี้แจงโต้แย้ง

- กกต.ไม่อ้างคำวินิจฉัยศาล รธน. ที่ 3/2567 มาเป็นฐานยื่นยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกัน 

- กรณีเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หลายการกระทำมิใช่การกระทำของพรรค แต่เป็นในฐานะปัจเจกบุคคล-ใช้อำนาจหน้าที่ ส.ส. 

- มิได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือ เป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองฯ สิ้นสุดลง 

- การเข้าชื่อเสนอร่างแก้กฎหมาย ม.112 ของ ส.ส. ชอบด้วยวิถีทางของ รธน. และไม่อาจมีทางเป็นการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ 

- กกต.เคยวินิจฉัยยกคำร้องกรณีนโยบายหาเสียง ม. 112 ของพรรคก้าวไกลไว้แล้ว เพราะเห็นว่ามิได้เป็นทำขัดต่อ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 

- การยุบพรรคต้องระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย 

- การยุบพรรคอาจส่งผลร้ายในอนาคต ทำลายดุลยภาพระหว่างฝ่ายค้าน กับ ฝ่ายรัฐบาล อาจนำไปสู่เผด็จการรัฐสภาได้ 

- การกระทำของก้าวไกลใช้อำนาจหน้าที่-เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจึงไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค

- การวินิจฉัยยุบพรรคที่เป็นปฏิปักษ์ ไม่เคยทำให้เกิดทางออก หรือ ทางเลือกใหม่ ที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น  

ที่สำคัญคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เรียกร้องไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า กรุณาใช้มโนธรรมและความรัก ความห่วงใยในประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิฉัยชี้ขาดคดีนี้

          เปิดประวัติ“สุรพล นิติไกรพจน์”พยานปากสำคัญ“ก้าวไกล”สู้ศาลรธน.ยุบพรรค                   

 

เปิดประวัติ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

สำหรับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เกิดเมื่อ 19 ก.ย. 2503 ปัจจุบันย่าง 64 ปี 

การศึกษา จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนเลยพิทยาคม , สำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 จากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา Diplôme d’études approfondies de droit public จากมหาวิทยาลัย Strasbourg III ประเทศฝรั่งเศส 

Doctorat de l’Université Robert Schuman de Strasbourg (mention très honorable) มหาวิทยาลัย Robert Schuman ฝรั่งเศส 

ประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ “การกระจายอำนาจ และ การปกครองท้องถิ่น” (IIAP.) กรุงปารีส, ฝรั่งเศส ได้รับปริญญาดูษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย Soka ประเทศญี่ปุ่น และ ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2553

การทำงานตำแหน่งสำคัญ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2547 – 2553

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544 - 2547

ประธานคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2551 - 2554

ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและกรรมการอิสระบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2552 – 2555 

ประธานคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร) พ.ศ. 2557 - 2559 

ผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้งโครงการอบรมหลักสูตร

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (บรรหาร ศิลปอาชา) ด้านกฎหมาย พ.ศ. 2538

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย (บุญญชู ตรีทอง) พ.ศ. 2538

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549

ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2555

ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลปกครอง พ.ศ. 2555

กรรมการแผนกธรรมศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล พ.ศ. 2557

กรรมการอิสระ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2557

กรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาต พ.ศ. 2558

กรรมการบริหารสถาบันคลังสมองแห่งชาติ พ.ศ. 2558

รองประธานคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบัน

ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประธานกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

อุปนายกสถาบันวิทยสิริเมธี

กรรมการอิสระบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลปกครองและที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชน (กพม.)

กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 8 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ประธานกรรมการบริหารศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิตส่วนตัว

ศ.ดร.สุรพล สมรสกับ จรรยา นิติไกรพจน์ มีบุตรสาว 2 คนคือ พธู นิติไกรพจน์ ศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ภัทรา นิติไกรพจน์ ศึกษาอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

*ขอบคุณข้อมูลประวัติจากวิกิพีเดีย