ครม.อนุมัติตั้ง กมธ.วิสามัญงบฯปี68 รวม 72 คน

11 มิ.ย. 2567 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 17:49 น.

ครม.มีมติเห็นชอบ ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯปี2568 จำนวน 72 คน แบ่งเป็นโควตา ครม.18 คน สส.รัฐบาล 34 คน -ฝ่ายค้าน 20 คน

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยการตั้งคณะกมธ. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มิได้กำหนดจำนวนไว้ แนวปฏิบัติที่ผ่านมาการกำหนดจำนวนคณะกมธ. 

ทั้งนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุม วาระที่ 1 โดยในปีงบประมาณที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคณะกรรมาธิการฯ (ปี 2545-2549, ปี 2552-2557 และปี 2563) จำนวน กมธ.อยู่ระหว่าง 63-34 คน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2567 จำนวน 72 คน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตั้งคณะกมธ. ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 91 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งคณะกมธ.วิสามัญให้ตั้งจากบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จำนวนนอกจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกจากรายชื่อที่สมาชิกเสนอ โดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทางสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตั้งคณะกมธ. และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 91 วรรคสอง จึงขอเสนอแนวทางเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 72 คน เท่ากับจำนวนที่มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2567 โดยกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
 

คณะกรรมาธิการฯที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ จำนวน 18 คน จำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนคณะกมธ. เห็นสมควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดตามความเหมาะสมต่อไป 

ส่วน กมธ. ในสัดส่วนพรรคการเมือง จำนวน 54 คน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สำนักการประชุม) ได้ประสานและแจ้งแนวทางการกำหนดสัดส่วนกมธ. แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล จำนวน 34 คน และสมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน จำนวน 20 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป