“ธรรมนัส” ประกาศถึงนายทุน ”สวมสิทธิ์ ส.ป.ก." ผิดกฎหมายต้องถูกยึดคืน

07 มี.ค. 2567 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 18:04 น.

“ธรรมนัส”ตอบกระทู้สภาชี้พื้นที่ทับซ้อนเขาใหญ่ต้องรอจัดทำแผนที่วันแมปหาข้อยุติ ลั่นยุคนี้ต้องไม่มีขรก.ประพฤติผิด ส่วนนายทุนเจ้าของรีสอร์ทสวมสิทธิ์ ส.ป.ก. ผิดก.ม. ต้องถูกรื้อยึดคืนทั้งหมด เพื่อมอบให้ประชาชนผู้ยากไร้

วันนี้(7 มี.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสด ที่ นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)ในฐานะประธานกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร สอบถาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องปัญหา ส.ป.ก.4-01 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ประชาชนสงสัย 

นายอภิชาติ กล่าวว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และลงพื้นที่ ไปดูปัญหาที่ดินทับซ้อนของกรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับที่ดิน สปก.  ที่ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่สรุปได้  โดยเฉพาะเรื่องแนวเขตบริเวณเขาใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายระหว่าง อุทยานแห่งชาติ กับ สปก. โดยต่างถือพระราชกฤษฏีกา(พรก.)คนละฉบับ 

และจากการแถลงข่าวของร.อ.ธรรมนัส เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมากรณีที่ทับซ้อน ต.หมูสี อ.ปากช่อง จว.นครราชสีมา ว่ากรมแผนที่ทหารรายงานผลการตรวจสอบว่าให้แปลงที่ดินของ สปก. ไม่ทับซ้อน และอยู่นอกแนวเขตอุทยานฯเขาใหญ่ อยากถามรมว.เกษตรฯ ว่า สถานะทางกฎหมายของรายงานผลของกรมแผนที่ทหาร มีสถานะอย่างไร สามารถนำมาใช้ในการตัดสินข้อพิพาทได้หรือไม่ ใช้แทนแผนที่แนบท้ายพรก.ประกาศอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่  หรือเป็นเพียงความเห็นของกรมแผนที่ทหารเท่านั้น 

ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ตนพยายามประสานสภา ขอเลื่อนการตอบกระทู้นี้ เพราะต้องการตรวจสอบความชัดเจน ที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อน แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ จึงตัดสินใจมาตอบกระทู้ในวันนี้ 

ขอชี้แจงว่ากรมอุทยานฯ และสปก. ก่อนปี 2545  ต่างกำกับภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่หลังจากนั้นได้แยกตัวไปอยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ในพื้นที่ต.หมูสี จุดเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เนื่องจากหน่วยงานของรัฐแต่ละกระทรวงต่างก็อ้างแผนที่ของตัวเอง 

กระทรวงทรัพย์ฯ อ้างว่ามีแผนที่ และแนวเขตของตนเองตามพรก.ปี2505 ซึ่งก็ไม่ผิด แต่สปก. ที่ก่อตั้งปี 2518 ก็มี พรบ.เช่นกัน การจะเอาที่ดินของรัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ทำกินจะต้องมีกระบวนการ ขั้นตอน ตั้งแต่คณะกรรมการพัฒนาและจำแนกที่ดินนำเสนอต่อครม. 

เมื่อเห็นชอบก็มีการออก พ.ร.ก.เขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้นการอ้างของ 2 หน่วยงานไม่ใช่ความผิดเกิดขึ้น เป็นเพราะตั้งแต่บรรพบุรุษเราสร้างไว้โดยไม่ได้ทำให้เกิดความชัดเจน จนกระทั่งปี 2538 สมัยนายประจวบ ไชยศาสน์ เป็นรมว.เกษตรฯ เห็นว่า กรมป่าไม้อยู่ในสังกัดของท่าน จึงออกแนวเขตแนวกันไฟ แต่ลืมออก พ.ร.ก. จนเกิดปัญหาถกเถียงกันทุกวันนี้ในเรื่องความทับซ้อน

                            

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนไม่ขอท้าวความว่าใครถูกใครผิด กรมอุทยานฯ มีหน้าที่พิทักษ์รักษาป่าต้นไม้ ส่วน สปก. ก็มีหน้าที่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน ต่างก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน จะเห็นว่าม็อบที่มาเต็มถนนราชดำเนินขณะนี้ ล้วนเป็นเรื่องปัญหาที่ดิน ตนและส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างก็ร่วมกันแก้ปัญหาให้ประชาชนในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  

“ผมเป็น ส.ส.พะเยา  บ้านผมศาลากลางจังหวัด ยังเป็นพื้นที่ป่าไม้อยู่ ขนาดหน่วยราชการยังอาศัยที่ดินเถื่อนอยู่เลย มันต้องปฏิรูป ดังนั้น สิ่งที่ที่ผมกำลังจะบอกว่า การแก้ปัญหาตั้งแต่ ปี2566 รัฐบาลที่แล้วถึงมีการจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหา One Land One Lows  ประเทศไทยปกครองโดยรัฐธรรมนูญ60 แผนที่ประเทศไทยควรมีแผนที่เดียว ไม่ใช่ต่างก็มีแผนที่ของตนเอง แล้วเมื่อไหร่จะจบ ปล่อยให้มานั่งเถียงกันในสภากันอยู่อย่างนี้”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คำถามว่าตนสั่งให้กรมแผนที่ทหารมาเป็นกรรมการในการแก้ปัญหา จนนำไปสู่การของตนแถลงว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขต สปก.  แต่เรื่องไม่จบ เพราะต่างฝ่ายก็เถียงกัน ซึ่งต้องเข้าสู่ One Map โดยรัฐบาลชุดที่แล้วและชุดนี้ ต่างเห็นชอบให้เอาหน่วยงานที่เป็นกลาง คือ กระทรวงกลาโหม โดยรมว. เป็นกรรมการกลาง ในการสร้างแผนที่หนึ่งเดียวในประเทศบังคับใช้ทุกหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นรายงานที่กรมแผนที่ททหารส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีเพือให้สองฝ่ายไม่ทะเลาะกัน  แต่เมื่อไม่จบก็จะต้องกลับไปมอบให้อนุกรรมการวันแม็ปเดินหน้าต่อ

“จริงๆ แล้วครม.อนุมัติมาแล้ว 33 จังหวัดกำลังเข้าอีก 11 จังหวัด เหลืออีก33 จังหวัด ซึ่งเขาใหญ่เป็นพื้นที่ยกเว้น เพราะเมื่อออกOne Map แล้วจะกระทบถึงโฉนดที่ออกไป โดยกรมที่ดิน จะต้องใช้ค่าเสียหายประมาณ1 แสนล้านบาท จึงได้เว้นไว้ ให้เราทะเลาะกัน แต่ตอนนี้เว้นไม่ได้แล้ว เพราะเป็นประเด็นสังคมต้องแก้ 

ดังนั้นท่านสุทิน (คลังแสง) ขอเวลาสองเดือนในการแก้ปัญหาพื้นที่เขาใหญ่ว่าเป็นรูปแบบอย่างไร ต้องอดใจรอ สิ่งที่เจ้ากรมแผนทีทหารลงนามไปถึงนายกฯยังไม่มีผลบังคับใช้  ซึ่งก่อนที่จะออกเป็น One Map เมื่อวานนี้ มีการตกลงกันระหว่างสองกระทรวงเรียบร้อย จึงเป็นที่มาของการทำบันทึกระหว่างกระทรวงทรัพย์ฯ กับกระทรวงเกษตร 

โดยมีข้อตกลงว่าประเด็นแนวเขตเขาใหญ่ให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่เป็นที่ดินของคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ใน

มาตราส่วน1:4,000 หรือOne Map ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ หรืออนุกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแนวเขตที่ดินอุทยานเขาใหญ่ โดนจะต้องให้ความเห็นชอบโดยครม. เมื่อได้ข้อยุติถึงมาเจรจากัน ระหว่างนี้ต่างฝ่ายต้องถอนคนละก้าวไปก่อน”

                    

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สปก. ตนได้สั่งการให้เพิกถอนไป  โดยแนวพื้นที่ดังกล่าวห้ามใครเข้าไปยุ่ง และตั้งกคณะกรรมการสอบสวนตั้งแต่หลังจากวันเกิดเหตุไม่กี่วัน และสั่งย้ายข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับมาส่วนกลางทั้งหมด

 โดยตนได้ข้อมูลว่าอาจจะมีการออกสปก.4-01 โดยมิชอบ และได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายร้องทุกข์แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ปปง. เพราะมั่นใจว่าหน่วยง่านนี้มีความเป็นธรรม และ ตงฉิน  

“ผมไม่มั่นใจในลูกน้องที่เป็นคณะกรรมการ และให้ดำเนินคดีสาวถึงใครไม่มีจบแบบหล่อ ใครผิดว่าไปตามผิด นอกจากลงโทษวินัยร้ายแรงแล้ว แต่ที่สำคัญ พรุ่งนี้ผมจะให้เลขาฯ สปก. ทำหนังสือถึงเลขาฯ ปปง. ให้มาร่วมดำเนินคดีตรวจสอบเส้นทางวการเงิน ยึดทรัพย์สินคืนสู่แผ่นดินให้หมด  

ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวจะต้องรักษาไว้เป็นป่าชุมชนที่ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันรับผิดชอบ หรือจะเป็นป่าอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับ 2 กรมคุยกันตามบันทึกข้อตกลง ดังนั้น หน้าที่ของปลัดทั้งสองกระทรวง คือ ไปปกครองลูกน้อง ให้หยุดพูดกันได้แล้ว และเมื่อสองฝ่ายตกลงกันได้แล้วจะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อนำเสนอครม.ว่าได้ข้อตกลงอย่างไร และเพื่อนำเสนอร่วมกัน ส่วนที่ดินที่มีปัญหาก็ให้ทำเป็นป่า และจะทำเป็นบัฟเฟอร์โซนกันโซนต่อไปในอนาคต”

ด้าน นายอภิชาติ ถามต่อว่า ในฐานะที่เป็นรมว.เกษตรฯ กำกับสปก.ทราบหรือได้รับรายงานจากสปก.นครราชสีมา หรือไม่ว่า มีการแจ้งเตือนจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถึงสปก.นครราชสีมา เพื่อคัดค้านการปักหมุดถึง 2 ครั้ง  

และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ยังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสปก. ถึงปัญหาแนวเขตที่ดินดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนเป็นข่าวดังขึ้นมา ท่านได้รับแจ้งปัญหาที่สำคัญจากหน่งวยงานที่ดูแลเลยใช้หรือไม่ และหากได้รับรายงานรังวัดในพื้นที่พิพาทมีการสั่งการอย่างไรบ้าง 

ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เริ่มมีการปักหมุดตรวจสอบแนวเขต จนมาถึงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน เป็นการส่อพิรุธว่ามิชอบอย่างแน่นอน ถามว่าตนได้รับรายงานหรือไม่ ตนไม่ได้รับรายงาน 

“สิ่งที่ผมสั่งการและจำเป็นต้องโดนทันทีคือ คุณมีพิรุธ ผมต้องดำเนินคดีคุณ จึงได้ย้ายทั้ง 6 คนเข้ากรุ และยังให้แจ้งดำเนินคดีทั้งวินัยและอาญา ผมไม่ได้นิ่งเฉย และยังสั่งให้หยุดทั้งหมด หลังจากมีประเด็นผมอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ รีบบินมาเข้าในพื้นที่ทันที เข้าใจว่า กำลังทะเลาะกันแรงอยู่ถึงได้ลงไป ไม่มีเจตนที่จะลงไปรังแกข้าราชการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะเจ้ากระทรวงทั้งสอง ก็มาจากพรรคเดียวกัน 

ยืนยันว่าเราไม่มีข้อพิพาทกันอย่างที่สื่อนำเสนอ ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ หนึ่งไม่ได้รับรายงาน คุณไม่รายงานก็ผิดแล้ว  สองดำเนิคดีอาญา สามพื้นที่พิพาทห้ามทำอะไรทั้งนั้น ยกเลิกให้หมดและมาตกลงตามข้อบันทึกฯ กันใหม่”
นายอภิชาติ ยังได้ตั้งคำถามที่สามว่า มีแนวทางมาตรการอย่างไรในการป้องกันปัญหากรณีที่อาจจะมีการนำโฉนด สปก. ไปกู้กับสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ ธกส. และได้รับรายงานหรือไม่ว่า พื้นที่ทับซ้อนระหว่างสปก.กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีอีกกี่แห่ง ที่อาจสุมเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเหมือนกรณีเขาใหญ่ 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาที่ดินทับซ้อนยังมีจำนวนมาก และปัญหาที่กลุ่มต่างๆที่ถูกดำเนินคดีก็ยังต้องร่วมกันแก้ปัญหา ยอมรับว่าตนมีความบกพร่อมที่ได้รับรายงานช้า

พื้นที่ปฏิรูปมี 40 ล้านไร่ มีเจ้าหน้าที่ดูแล72 จังหวัด เปรียบเหมือนมี 72 โรงพัก โรงพักไหนที่มีผู้กำกับพาลูกน้องไปปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ต้องถูกลงโทษ เหมือนนิ้วสิบนิ้ว นิ้วไหนเน่าเราต้องตัดทิ้ง  แต่จะเหมาว่าเละทั้งหมด นโยบายสปก.ที่กำลังทำทั้งหมดมันล้มเหลว ก็ต้องกลับไปถามเกษตรกรว่าพึงพอใจกับนโยบายนี้หรือไม่  ไปถามล้านคนตนอยากทราบว่าปฏิเสธกี่คน เราจะได้เอาข้อมูลมาศึกษา"  

รมว.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษโดยให้เลขาฯ สปก. เห็นหัวหน้าชุดดูพื้นที่ทั้งหมดที่กำลังแปลงสปก.ให้เป็นโฉนด คัดกรอง จำนวนทั้งหมด 1.7 ล้านครอบครัว ที่มีสิทธิ์ถือครองที่ทำกินโดยตรวจสอบว่ามีการเข้าไปทำกินจริงหรือไม่ ซึ่งเราต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตร เราต้องเป็นที่พึ่งพาของคน 52 ล้านชีวิตที่ทำการเกษตร

ตนยินดีทำงานร่วมกับสภา และกรรมาธิการที่ต้องการลงไปพื้นที่ ตนเชื่อว่าไม่ใช่ที่เขาใหญ่ที่เดียวแต่มันเกิดกับทุกที่ที่เป็นเขตสปก. หรือที่ดินของรัฐอีก9 หน่วยงาน ดังนั้นต้องทบทวน ถอดบทเรีนยเขาใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น 

“ผมสั่งการเป็นนโยบายชัดเจนว่า ต่อไปนี้พื้นที่ทับซ้อนชายแดนระหว่างอุทยานป่าไม้ กับ สปก.  ห้ามจัดให้เกษตรกรทำกินเด็ดขาด ปัญหารเรื่องช้างยังแก้ไม่ได้เลย แล้วไปแจกที่ดินให้เกษตรกรในพื้นที่เขาใหญ่ จิตสำนึกคุณมีหรือไม่ ทำได้หรือไม่ มันควรทำมั้ย มันไม่ควรทำ เพราะปลูกอะไรมาช้างก็มาทำลาย แถมยังคุมไม่ได้ก็มีการทำลายป่าไม้ ทำลายอุทยาน จิตสำนึกมันไม่ควรจัดอยู่แล้ว  แต่มันเป็นเรื่องในครอบครัวผม ที่ต้องไปลงโทษ  คนจัญไรมีเยอะ 

ดังนั้นข้าราชการชั่วๆ อย่างนี้ต้องถูกลงโทษลงทัณฑ์ ยืนยันว่าในยุคผมไม่มี ขออนุญาตใช้คำพูดของ คุณชัยวัฒน์ (ลิ้มลิขิตอักษร) ว่า ไม่มีหรอกครับ จบหล่อๆ ไม่เขาก็เราผิด เมื่อเราผิดต้องลงโทษ ทั้งวินัย และอาญา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับข้าราชการต่อไป  

และหนักว่านั้นคือ ผมเอาปปง.มาสอบเส้นทางการเงินทั้งหมด  เจ้าของรีสอร์ทเตรียมตัวไว้เลยว่า สิ่งที่สร้างมาตลอดชีวิตจะเหลือศูนย์ หรือ ติดลบหรือติดคุก ผมไม่เว้น ช่วงผมเป็นรมช.ยึดที่ดินกี่แปลงแล้ว จัดสรรให้พี่น้องเกษตรกร ไม่มีเว้นหน้าอินหน้าพรหม  ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าสัวหรืออะไร ผมจะเอาคืนเพราะเป็นที่ดินของรัฐ ต้องมอบให้เจ้าของประเทศที่เป็นคนไทย ผู้ยากไร้ ได้ใช้สิทธิ์ ทำกิน ที่อยู่อาศัย”

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวขอบคุณเจ้าของกระทู้ และกมธ.ที่ดิน และทุกคนที่ร่วมทำงานกับตน ที่ต้องการแก้ปัญหาให้อยู่ในกรอบภายใต้กฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน คนไทยทั้งแผ่นดินกำลังดูว่าส.ส.ในยุคนี้ทำอะไรเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองบ้าง