ศิริกัญญา ชำแหละงบประมาณ 67 มรดกหนี้ ประยุทธ์ดาวน์-เศรษฐาผ่อนต่อ

03 ม.ค. 2567 | 18:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 18:38 น.

ศิริกัญญา ชำแหละงบประมาณ 67 งบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์-เงินดิจิทัลล่องหน ซุกหนี้ประชานิยม 3 รัฐบาล ติดกับมรดกหนี้ ประยุทธ์ดาวน์-เศรษฐาผ่อนต่อ

วันนี้ (3 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า ดิฉันใช้เวลา 7 วันเต็ม ๆ ในการคลุกอยู่กับเอกสารงบประมาณกว่าหมื่นหน้า และเอกสาร 2 ลัง 20 กว่าเล่ม ดิฉันก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนกับการเกิดวิกฤต 

ดักคออย่าโกงสูตรอัพจีดีพี   

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จากเอกสารการจัดทำงบประมาณเล่มขาวคาดม่วง ระบุว่า เศรษฐกิจปี 66 คาดจะโต 2.5% ปี 67 โต 3.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล ดูยังไงก็ยังไม่วิกฤตแบบที่นายกรัฐมนตรี พูด งบที่จัดทำก็มองไม่ออกว่ากำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ งบประมาณฉบับประชาชนจัดทำโดยสำนักงบประมาณ ดิฉันเห็นตัวเลขจีดีพีรับรองว่าไม่วิกฤตแน่นอน โต 5.4 % ดิฉันตกใจมาก ดิฉันกำลังจะต้องแพ้พนันแล้วก็ไปบวชชีหรือเปล่า เพราะแพ้พนันกับประธานวิปฝ่ายค้าน ว่า ถ้าเศรษฐกิจโตเมื่อไหร่ดิฉันจะลาไปบวชชี 

“ทำไมงบประมาณฉบับประชาชนจีดีพีถึงโต 5.4 % ก็มาถึงบางอ้อ เพราะนี่คือการเติบโตของจีดีพีที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่ารัฐบาลจะกำลังจะบรรลุเป้าใหม่จีดีพีทะลุ 5 % ตั้งแต่การบริหารในปีแรกด้วยการโกงสูตรปรับจีดีพี ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกรู้ดี ขอร้องอย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ไม่วิกฤตไม่ว่าจีดีพีจะโต 3.2 % หรือ 5.4 %”น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตามปกติรัฐบาลจะทำงบขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพื่อกู้เงินเพิ่ม ชดเชยรายได้ที่หายไปและใช้เม็ดเงินส่วนหนึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พอมาดูงบขาดดุลปี 67 กู้เพื่อชดเชยขาดดุล 3.6% ของจีดีพี ที่บอกจะโต 3.5 % แต่ดูปีถัดไป ขาดดุลเท่าเดิมทุกปี จึงดูไม่ออกมาปีไหนวิกฤตกันแน่ หรือจะเกิดวิกฤตต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงปี 70 ทำไมรัฐบาลถึงประมาณการว่าจะขาดดุล 3.4% ไปเรื่อย ๆ  ทั้งที่พรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้ว่าจะทำงบสมดุลภายใน 7 ปี 

งบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรามาควานหางบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 หากมีวิกฤตก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคือดิจิทัลวอลเล็ต แพ็คเกจใหญ่ 500,000 ล้านบาท เอาเงินเติมให้กับประชาชน ใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท แต่งบดิจิทัลวอลเล็ตกลับล่องหนไม่มีในงบประมาณ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท และเพิ่งใส่มาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 แสดงว่ายังไม่มีเงินเติมอีก 100,000 ล้านบาท ก็ต้องรอดูว่าจะกู้ 500,000 ล้านบาทได้หรือไม่ คิดว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ เหมือนการฝากไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสูง หากไม่สามารถออกพ.ร.บ.เงินกู้ได้ หากกู้ไม่ได้ก็จะเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์ทันที

ดิจิทัลวอลเลตล่องหน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจในงบปี 67 โครงการเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลอย่าง ดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกคนละ 10,000 บาท 50 ล้านคน และเติมเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1 แสนล้านบาท โดยใช้เงินมาจาก 2 แหล่ง แหล่งแรก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 1 แสนล้านบาท 

“งบ 67 (ดิจิทัลวอลเลต) ไม่มี ล่องหน ไม่ปรากฏในงบปี 67 เลยแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดฯ ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์จากที่โฆษณาไว้ 1 แสนล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง ซึ่งเพิ่งเพิ่มมาในช่วงปรับปรุงงบประมาณครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นี่อุตสาห์ตัดลงงบที่ต้องใช้หนี้ธกส.มาแล้ว”น.ส.ศิริกัญญากล่าว 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า สรุปแล้วเราจะต้องลุ้น พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจะสามารถออกได้หรือไม่ และเรายังต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปแล้วยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 5.85 แสนล้านบาทแล้วหรือไม่ 

“ตอนนี้รัฐบาลกำลังฝากความหวังไว้ทั้งหมดเอาไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านเหมือนกับการเอาไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว มีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออกพ.ร.บ.เงินกู้ได้ เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์”น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 หลบอยู่ตรงไหนอีกหรือไม่ มี งบประมาณฉบับประชาชนเล่มเดิม 3 หมื่นกว่าล้านบาท เรื่องแรกการแก้ไขปัญหาหนี้สิน พักหนี้เกษตรกรใช้หนี้ไปแล้ว 11,000 ล้านบาท ไม่ได้ใช้งบปี 67 ไปใช้เงินจากธกส. ให้ออกตังค์ไปก่อน ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอี 24,700 ราย เป็นงบที่ตั้งไว้ใช้หนี้ออมสิน ช่วงโควิด-19 ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะเอามาเคลมด้วยใช่หรือไม่ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่ค่อยได้ใช้งบ การผลักดันการท่องเที่ยว ก็เป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  

งบกลาโหมเพิ่ม สวนวิกฤตเศรษฐกิจ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า วิกฤตแบบใดงบกลาโหมถึงเพิ่มขึ้น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งงบกลาโหมลดลง 21 % ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดลง 10 % ช่วงโควิด งบกลาโหมลดลง 5 แต่ในช่วงวิกฤตของนายเศรษฐางบกลาโหมเพิ่ม 2 % ยังมีอีกหลายโครงการที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่หาไม่เจอเช่นเดียวกัน  งบยุทธศาสตร์ 6 ด้าน 68 แผนงาน มี 2 แผนงานที่เป็นแผนงานใหม่ มีเพียง 236 โครงการใหม่จาก 1,500 โครงการ ซึ่งมีงบประมาณเพียงแค่ 13,656 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 831,000 ล้านบาท 

ซุกงบใช้หนี้ประชานิยม 3 รัฐบาล 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า งบสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 393,518 ล้านบาท มีแต่ตัดถนน สร้างสะพาน 37 % เป็นการสร้างตึกอาคาร ที่ดิน สำนักงาน 15 % แผนงานสนับสนุนด้านความสามารถในการแข่งขัน 36,997 ล้านบาท เป็นงบใช้หนี้แบงก์รัฐ 40 % แผนงานเกษตรสร้างมูลค่า 49,895 ล้านบาท เป็นงบใช้หนี้ ธกส.80 % เป็นการใช้หนี้รัฐบาลก่อน ทั้ง ประกันรายได้ จำนำข้าว จำนำสิ้นค้าเกษตร ตั้งแต่ยุคสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ มาจนถึงนายกฯประยุทธ์ 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ข้ออ้างของรัฐบาลจัดทำงบประมาณ 2 เดือน ฟังไม่ขึ้น เพราะรื้องบประมาณใหม่ตั้งแต่ศูนย์ และมีการรื้องบถึง 2 รอบ รับฟังความเห็น 2 ครั้ง แต่ไม่ง่ายต้องอาศัยภาวะผู้นำเป็นอย่างมาก เพราะต้องเข้าใจกระบวนการงบประมาณ ต้องไปเจรจากับพรรคร่วม และเจรจากับฝ่ายข้าราชการอีกด้วย และมีแผนซ้อนแผน ซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทย่อย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ยิ่งทำให้การกระดิกกระเดี้ยวตัวของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองเป็นไปไม่ได้เลย 

มรดกหนี้ประยุทธ์ดาวน์-เศรษฐาผ่อนต่อ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดก่อน ไม่ใช่แค่มรดกการก่อหนี้ แต่เป็นการไม่ยอมปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ และไม่ยอมแก้ไขปัญหาเรื้อรัง ซึ่งรัฐบาลเหลืองบที่จัดสรรได้เองแค่ 7 แสนล้านบาท หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ซึ่งแต่ละเรื่องมีปัญหาในเรื่องโครงสร้าง งบใช้จ่ายบุคลากร 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 37 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงงบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งโตเร็วและกำลังจะแซงงบเงินเดือนอีกไม่ถึง 10 ปี ไม่ใช่จะตัดบำนาญ 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า งบชำระหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 40,000 ล้านบาท เป็นมรดกจากรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ใช่มรดกของการก่อหนี้อย่างเดียว แต่เป็นการบริหารงานผิดพลาดด้วย เงินชดใช้เงินคงคลังสูงเป็นประวัติการณ์ถึงเกือบ 120,000 ล้านบาท งบผูกพัน 360,000 ล้านบาท เป็นมรดกที่ประยุทธ์ดาวน์แล้วเศรษฐาผ่อนต่อ ซึ่งปีนี้รัฐบาลเศรษฐาผูกพันเยอะ เริ่มดาวน์แล้วในปี 67 ชนเพดานเลย คือ 10 % แสดงว่ามีอีกก้อนใหญ่ ๆ 90 % ที่รอให้รัฐบาลต่อไปมารับภาระ 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า มันมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องมาถอดบทเรียน ไม่ให้เราพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ เรื่องแรกที่เป็นบทเรียน คือ การจัดสรรงบประมาณผิดพลาด เช่น เงินชดใช้เงินคงคลัง 120,000 ล้านบาท เอาไปใช้เรื่องงบบุคลากร เงินเดือน บำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ยอดบวกกัน 2 ปีทำให้บวมเข้าไปใหญ่ ทำไมตั้งไว้ไม่พอ ต้องไปควักเงินคงคลังมาใช้ ซึ่งเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ

“แต่รัฐบาลเศรษฐาไม่ได้เรียนรู้เลย ปี 67 ก็ยังคงพลาดต่อ เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญก็ยังตั้งไว้ไม่พอจ่ายเหมือนเดิม ประมาณการณ์ว่าจะต้องใช้ 360,000 ล้านบาท ก็ตั้งไว้แค่ 330,000 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการกำลังจะทะลุแสนอยู่แล้ว ก็ยังตั้งเท่าเดิมอยู่ที่ 76,000 ล้านบาท เงินเดือนต้องเพิ่มแน่ ๆ เพราะมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนข้าราชการก็ไม่ได้ตั้งเพิ่ม สุดท้ายพยากรณ์ได้เลยว่างบปี 69 ก็จะมีการควักเอาเงินคงคลังออกมาใช้แล้วต้องมาตั้งชดใช้เงินคงคลังกันอีกรอบ ไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดอะไรเลยในอดีต หรือตั้งอกตั้งใจที่จะทำอย่างนี้กันแน่”น.ส.ศิริกัญญากล่าว

รายได้หด 1 แสนล้าน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ผิดพลาดในการตั้งงบรายได้ 13 กันยายน 66 ที่รื้องบวันแรก ตั้งกรอบรายได้ 2.787 ล้านล้านบาท ในเอกสารกรอบการคลังระยะปานกลางระบุไว้ชัดว่า จะมีการเก็บภาษีการขายหุ้นเพื่อที่จะมาสมบทเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท สองวันถัดมา 15 กันยายน นายเศรษฐาไปออกรายการว่าจะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ยังไม่พอ ให้ขอขวัญกับนักลงทุนในตลาดทุนไทยให้ลดหย่อนกองทุน thai ESG แต่ประมาณการรายได้ที่ลดลงแน่ ๆ ปีหน้า 10,000 ล้านบาท จะเอาที่ไหนมาชดเชย ไม่นับชดเชยรายได้ของกฟผ.ที่แบกภาระหนี้ ตั้งต้องนำรายได้ส่งเข้ารัฐเพิ่มจากปีก่อน 60 % ไม่รู้เอาอะไรคิด และไม่น่าจะส่งได้ เพราะเงินสดกำลังจะหมดเดือนกรกฎาคมปี 67 ยังไม่นับภาษีสรรพสามิตช่วยพยังค่าน้ำมันให้ประชาชนปีหน้าจะหายไปทั้งปี 60,000 ล้านบาท หายไปเนาะ ๆ 100,000 ล้านบาทแล้ว 

น.ส.ศิริกัญญากล่าว สุดท้ายหนี้สาธารณะ ปี 67 64 % ของจีดีพี ไม่ได้บอกอะไร แต่สิ่งที่ต้องกังวล คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีพุ่งขึ้น เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น จุดตัดจุดตายอยู่ที่ดอกเบี้ย 10 % ของรายได้ จะทะลุ 10 % ในปีหน้า 2568 ภาระดอกเบี้ยจะไปเบียดบังงบประมาณที่เราต้องใช้ในแต่ละปี ซึ่ง 10 % ยังไม่รวมหนี้ดิจิทัลวอลเลต และหนี้มาตรา 28 ทะลุ 1 ล้านล้านไปแล้ว รัฐบาลนี้ใช้เก่งมาก 3 เดือน ใช้ไปจนเต็มเพดานที่ 32 % ไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องมาจัดสรรงบประมาณใช้หนี้ธกส. ออมสิน ธอส. ยังไม่รวมอยู่ในก้อนนี้ตรงนี้

“สรุปแล้วร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่เห็นอะไร นอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ ไม่สามารถทำงานได้ อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่า เก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ ประมาณการรายได้ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัย และไม่คิดที่จะแก้ มุ่งแต่จะใช้เงินนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง ถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย”น.ส.ศิริกัญญากล่าว