วันที่ 3 ม.ค. 2567 ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันแรก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ชำแหละงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยตั้งสารพัดคำถามถึงรัฐบาล หลังจากอ่านงบประมาณแล้ว 35 เล่ม สรุปแล้ว งบลงทุนใหม่ปี 67ใช้วงเงินเท่าไหร่? เพราะส่วนมากที่ระบุมาในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 67 นั้น เป็นงบผูกพันเดิมเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้ ขอตั้งฉายางบ 67 เป็น “3 ขาด 3 เกิน 1 พอได้”
“3 ขาด” คือ งบประมาณ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีงบประมาณรวมราว 25,327 ล้านบาท เป็นงบประจำ 23,3355 ล้านบาท งบลงทุนเพียง 1,972 ล้านบาท คิดเป็น 7.79% เท่านั้น
- กระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณรวม 328,384 ล้านบาท เป็นงบประจำถึง 314,839 ล้านบาท มีงบลงทุนเพียง 13,545 ล้านบาท คิดเป็น 4.12%
- กระทรวงสาธารณสุข 165,726 ล้านบาท เป็นงบประจำ 151,761 ล้านบาท มีงบลงทุนเพียง 13,946 ล้านบาท คิดเป็น 8.43% เท่านั้น
“3 เกิน” คือ 3 กระทรวงหลักเช่นกัน มีการตั้งงบลงทุนที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก นอกจากนี้ยังมีการตั้งงบซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน หรืออย่างงบลงทุนกระทรวงกลาโหม
- กระทรวงคมนาคม ได้รับงบประมาณลงทุนทั้งหมด 171,941 ล้านบาท คิดเป็น 93.63% ของงบรวม
- กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณลงทุนทั้งหมด 116,121 ล้านบาท คิดเป็น 32.88% ของงบรวม
- กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณลงทุนทั้งหมด 45,458 ล้านบาท คิดเป็น 22.92% ของงบรวม
“1 พอได้” คือ 1 กระทรวง
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบลงทุนกว่า 84,588 ล้านบาท คิดเป็น 71.32% เป็นงบภัยแล้ง พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร งบปรับปรุงแหล่งน้ำ 364 แห่ง