‘ชัยธวัช’ ชี้งบประมาณปี 67 ไม่ตรงปก รายได้-รายจ่ายไม่สมดุล

03 ม.ค. 2567 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 14:34 น.

‘ชัยธวัช’ ชี้ งบประมาณปี 67 ไม่ตรงปก พบรายได้-รายจ่ายไม่สมดุล ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก หลายโครงการถูกสอดไส้มา เป็นแผนงานประจำที่แต่ละกระทรวงทำอยู่แล้ว เหมือน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’

วันที่ 3 ม.ค. 2567 ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วันแรก นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อภิปรายคนแรกโดยได้ กล่าวถึงภาพรวมการจัดทำงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ตรงปก รายได้-รายได้ไม่สมดุล และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ชัยธวัชระบุว่า ย้อนไปวันที่ 11 กันยายน 2566 นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา บอกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ สถานการณ์ของประเทศวันนี้มี 3 วิกฤตสำคัญ ได้แก่ 

  1. วิกฤตรัฐธรรมนูญ
  2. วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน
  3. วิกฤตความขัดแย้งในสังคม 

พร้อมตั้งกรอบการทำงานระยะสั้น เช่น การกระตุ้นการใช้จ่าย ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ อย่างเร่งด่วน ซึ่ง ณ ขณะนั้น โครงการเร่งด่วยคือ มาตรการแจกเงิน ดิจิทัล วอลเล็ต ภายใต้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยจะไม่กู้มาแจกแต่จะจัดสรรงบประมาณประจำปี

ซึ่งปัจจุบันในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีสำรองเงินไว้สำหรับงบประมาณดังกล่าว รัฐบาลเศรษฐา จะใช้วิธีการผลักดัน พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทแทน ซึ่งผิดจากที่แถลงนโยบายเอาไว้ก่อนหน้านี้

เรื่องต่อมาคือ นโยบายลดภาระค่าใช้จ่าย ลดค่าไฟฟ้า ด้วยการยืดการชำระหนี้ กฟผ. ออกไป ซึ่งหมายความว่าในอนาคต ประชาชนก็ต้องจ่ายเงินคืน กฟผ. อยู่ดี ไม่มีการตั้งงบประมาณชดเชยเจ้าหนี้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นนโยบายหลัก แต่ก็ไม่มีการตั้งงบประมาณรอไว้ในส่วนนี้เช่นกัน

สำหรับกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน 

“ในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล พรรคก้าวไกลได้อภิปรายเอาไว้ว่า ไม่เหมือนที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งนายกฯ ก็บอกปัดเลี่ยงตอบว่าให้รอดูแผนรายกระทรวง จะมีความชัดเจนแน่นอน แต่เมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวง กลับพบปัญหาเต็มไปหมด ไม่เป็นไปตามการอ้างของนายกฯ แม้แต่น้อย”

อย่างไรก็ตามก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในวันนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ครม. ได้มีมติสั่งทบทวนใหม่ทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งปรับปรุงแนวทางการจัดทำงบประมาณ และปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งใช้เวลากว่า 3 แต่สุดท้ายกลับพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ 

ทั้งนี้ เนื้อหาของแผนรายกระทรวง ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ หลายโครงการพบว่าเป็นโครงการเดิม ๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี 

“การที่จะบริหารบ้านเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ เป็นภาระของนายกฯและรัฐบาล ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ฉะนั้น อย่าใส่โครงการเดิม ๆ ที่ทำอยู่แล้วมาเป็นแผนใหม่ เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น”

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีโครงการที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่ เพียง 200 โครงการ จากทั้งหมด 2000 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการคาดการณ์รายได้เกินจริง ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท เพื่อที่เพิ่มแผนรายจ่ายให้สูงขึ้น กลับกันรายการที่รัฐบาลต้องจ่ายจริง ๆ ได้ตั้งงบประมาณ หรือคาดการณ์ไว้อย่างไม่เพียงพอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการต่าง ๆ นำไปสู่การตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดเชยใช้หนี้เงินคงคลังในภายหลัง