รายงานพิเศษ : นับถอยหลัง 3 คดีร้อนชี้ชะตา“พิธา-ก้าวไกล-ศักดิ์สยาม”

19 พ.ย. 2566 | 10:30 น.

นับถอยหลัง 3 คดีร้อนการเมืองในมือศาลรัฐธรรมนูญ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” ลุ้มปม “ถือหุ้นสื่อ-ยกเลิก ม.112” ขณะที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ปมถือหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น คาดต้นปี 2567 รู้ชะตากรรม : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3941

ใกล้ “ไคลแม็กซ์” เข้ามาทุกขณะสำหรับ “3 คดีร้อนทางการเมือง” ที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” อันอาจจะมีผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย

คดี“พิธา”ถือหุ้นสื่อ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

ศาลได้อภิปรายและกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 22 พ.ย. 2566 เวลา 09.30 น.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันพุธที่ 22 พ.ย.ดังกล่าว ศาลจะกำหนดนัดจำนวนพยาน และวันออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาคดี พิธา ถือหุ้นสื่อ 

สำหรับคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 

ต่อมา นายพิธา ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ต.ค. 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ต.ค. 2566 
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้ว 12 ครั้ง เรียกให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐานจำนวน 12 ราย

คดีนี้ หลังวันที่ 22 พ.ย. 2566 เมื่อศาลกำหนดวันไต่สวนพยานบุคคลในวันใด (คาดเป็นใน ม.ค. 67) เมื่อผ่านการไต่สวนไปแล้ว ก็คงถึงวันที่ศาลจะนัดแถลงด้วยวาจา และ ลงมติ 

คาดว่าไม่เกินเดือน ก.พ. 2567 จะได้รู้ชะตากรรมของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แน่นอน...

ม.112 ชี้ชะตาก้าวไกล  

ไปอีกคดีที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล เช่นกัน เป็นกรณีที่ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพุทธะอิสระ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ต่อมาวันที่ 12 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และดำเนินกระบวนพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 37 ครั้ง และผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีระบุพยานบุคคลฉบับลงวันที่ 9 ต.ค. 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ต.ค. 2566

ต้นปีตัดสินพิธา-ก้าวไกล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ศาลได้มีการอภิปราย และกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 22 พ.ย. 2566 เวลา 9.30 น.
ทั้งนี้ มีรายงานเช่นกันว่า ในวันพุธที่ 22 พ.ย. ศาลจะกำหนดนัดจำนวนพยาน และ วันออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานบุคคล เพื่อประกอบการพิจารณาคดี
 

คดีนี้ หลังวันที่ 22 พ.ย. 2566 เมื่อศาลกำหนดวันไต่สวนพยานบุคคลในวันใด (คาดเป็นใน ม.ค. 67) เมื่อผ่านการไต่สวนไปแล้ว ก็คงถึงวันที่ศาลจะนัดแถลงด้วยวาจา และ ลงมติ 

คาดว่าไม่เกินเดือน ก.พ.- มี.ค. 2567 ก็จะได้รู้ชะตากรรมของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ในคดีนี้ ซึ่งมีอนาคตทางการเมืองเป็นเดิมพัน

                              รายงานพิเศษ : นับถอยหลัง 3 คดีร้อนชี้ชะตา“พิธา-ก้าวไกล-ศักดิ์สยาม”

ศาลไต่สวนคดีศักดิ์สยาม

ไปอีกคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือ กรณี เมื่อ 7 ก.พ. 2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน 54 คน เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้น เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส. ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

เนื่องจากเห็นว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง อันจะทำให้ นายศักดิ์สยาม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือ กิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ 

คดีนี้ศาลได้รับคำร้องไว้ และสั่งให้ นายศักดิ์สยาม ยุติการทำหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีนี้ โดยการอภิปราย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐาน และพยานบุคคลยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือ ความเห็น จึงกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 29 พ.ย. 2566 เวลา 09.30 น. 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีนี้ และได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคล จำนวน 4 ปาก ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธ.ค. 2566 เวลา 9.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีชั้น 3 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 

หลังศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้วจำนวน 48 ครั้ง และเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป
คดีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หลังศาลไต่สวนพยานบุคคลผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 14 ธ.ค. ก็คงถึงวันที่ศาลจะนัดแถลงด้วยวาจา และ ลงมติ 

คาดว่าศาลอาจจะตัดสินภายในเดือน ธ.ค. 2566 หรือ อย่างช้าไม่เกิน ม.ค. 2567 ก็น่าจะรู้ผลว่าอนาคตทางการเมืองของ ศักดิ์สยาม จะเป็นเช่นใด มารอลุ้นกัน...