รายงานพิเศษ : พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ในอุ้งมือ “กฤษฎีกา คณะ 12”

16 พ.ย. 2566 | 17:41 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2566 | 19:31 น.
748

จับตาเผือกร้อนในการวินิจฉัยการกู้เงินมาแจกดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านการออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท กฤษฎีกาจะมีกระบวนการวินิจฉัยประเด็นนี้อย่างไร : รายงานพิเศษ โดย...ศูนย์ข่าวสืบสวนเนชั่น

บัดนี้เผือกร้อนว่าด้วยเรื่องการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สำหรับใช้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าทำได้หรือไม่... “ตกในมือกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12”

หลัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ออกมาโยนลูกว่า “ร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท เลขาธิการกฤษฎีกาได้รับเรื่องไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยจะพยายามเร่งให้ดำเนินการเร็วที่สุด”

สวนทางกับข้อมูลที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ที่ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้เริ่มร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเลย 

แต่ตามกระบวนการนั้น เมื่อร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ต้องรอความคิดเห็นของกฤษฎีกาให้จบก่อน จากนั้นจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของครม. และเสนอสภาฯ พิจารณา 3 วาระ และ วุฒิสภา และเชื่อว่า ครม.จะเห็นชอบได้ทันภายในปีนี้

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร... การพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 อันประกอบด้วย 1.นายพนัส สิมะเสถียร อดีต รมว.คลัง เป็นประธาน  2.นายบดี จุณณานนท์  อดีต รมว.คลังและอดีต ผอ.สำนักงบประมาณ 3.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา 4.นายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกา และประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 

5.นายสมชัย ฤชุพันธุ์  อธิบดีกรมสรรพสามิต อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 6.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด 7.นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 8.นายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 9.นายศักดา ธนิตกุล  ศาสตราจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 9 อรหันต์คณะที่ 12 นี่แหละจะเป็นผู้วินิจฉัย ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล

                         รายงานพิเศษ : พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ในอุ้งมือ “กฤษฎีกา คณะ 12”

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ทั้ง 9 คน คงต้องแบกรับแรงกดดันจากรัฐบาลแน่นอน เพราะผลการตีความไม่ว่าออกหัว ออกก้อย ล้วนแล้วแต่มีผลต่อรัฐบาลแน่นอน  
แต่ช้าแต่ อย่าคิดในเชิงลบเกินไปนะขอรับเจ้านาย  

เนื่องเพราะ 1.คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ส่วนใหญ่ มาจากสายเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และเคยเป็นอดีตรัฐมนตรี เกษียณอายุข้าราชการไปแล้วทั้งสิ้น  

2.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 อรหันต์ ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครมีตำแหน่งแห่งหนใดทางการเมือง หรือปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลชุดปัจจุบันแม้แต่น้อย
3. ทั้ง 9 อรหันต์ล้วนแล้วแต่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ใครแทรกแซงยาก

เชื่อมือได้ว่า คณะที่ 12 จะวินิจฉัยออกมาในลักษณะตรงไปตรง ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ทำได้หรือไม่ได้ ก็จะตอบอย่างตรงไปตรงมา 

ข้อน่าสนใจชนิดที่ต้องขีดเส้นใต้ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ที่มี คุณพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานนี่แหละ ได้ประเดิมผลการทำงาน การวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการจ่ายเงินดิจิทัลว็อลเล็ต คนละหมื่นบาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาแล้วครั้งหนึ่ง 

กล่าวคือ เมื่อเร็วๆ นี้  รัฐบาลเศรษฐา ได้ส่งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินมาใช้ในโครงการนี้ว่า สามารถนำเงินจากธนาคารออมสิน มาใช้จ่ายได้หรือไม่!

ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ตีความกลับไปว่า  

“ธนาคารออมสินไม่มีอำนาจหน้าที่”  

แปลความชัดๆ ว่า “ทำไม่ได้”

ตอนนั้น รัฐบาลเสนอไปว่า ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 รัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการนั้น ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมาย และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดําเนินการดังกล่าว

ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกําหนด
ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรานี้ ไม่ว่าการมอบหมายนั้นจะเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ จัดทําประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดสําหรับกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการนั้น ๆ และแจ้งให้คณะกรรมการและกระทรวงการคลังทราบ

แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ทำไม่ได้ 

สาเหตุเพราะใน พรบ.ธนาคารออมสิน นั้น ไม่ให้อำนาจไว้ และถ้าจะทำ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชดเชยทั้งก้อน!

ตอนนี้ เผือกร้อนในการวินิจฉัยการกู้เงินมาแจก ผ่านการออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท กฤษฎีกาจะมีกระบวนการวินิจฉัย ประเด็นนี้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการทำงานนั้น 1.ทันทีที่รัฐบาลส่งประเด็นร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  ไม่ได้หมายความ จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12  ที่มีคุณพนัส  สิมะเสถียร เป็นประธาน ทันที  

2.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องมอบหมายคณะทำงานเพื่อตรวจหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ขอให้ตีความ โดยนำมาวิเคราะห์ประเด็นคำถามในเบื้องต้น  เกี่ยวข้องกับส่วนราชการใดบ้าง  ท่านใดบ้าง เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีชุดที่จะทำหน้าที่วินิจฉัย 

3.คณะทำงานจะใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ ประเด็นขอตีความ  บางเรื่องไม่ยุ่งยาก ก็ทำได้เร็ว บางเรื่องเกี่ยวข้องหลายฝ่ายก็อาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์  

ดังนั้น ประเด็น ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ตามที่คนในรัฐบาลแจ้งว่า ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วว่า น่าจะส่งเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ซึ่งมี คุณพนัส  สิมะเสถียร เป็นประธานนั้น จากการตรวจสอบแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานกฤษฎีกา ยังไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้ามา ซึ่งเหมือนอย่างที่กล่าวข้างต้น ต้องส่งให้คณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ฉะนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12  จึงยังไม่มีการนัดหมายเรียกประชุม 

โดยปกติ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีการประชุมกัน ทุกวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี  

รัฐบาลจึงต้องรอลุ้นกันด้วยความระทึก