“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขุนคลังรุ่นพี่ สู่กุนซือสุดซี้ “เศรษฐา ทวีสิน”

15 ก.ย. 2566 | 19:28 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 00:00 น.
929

ทำความรู้จัก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขุนคลังรุ่นพี่ สู่กุนซือสุดซี้ “เศรษฐา ทวีสิน” หลังนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เป็น ประธานที่ปรึกษา ไปรู้จักตัวตนของเขาให้มากขึ้น รวมทั้งความใกล้ชิดกับนายกฯ ก่อนนั่งตำแหน่งสำคัญ

ชื่อของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี หวนกลับมาอยู่ในรัฐบาลอีกครั้ง แม้จะไม่ได้มีตำแหน่งในฐานะฝ่ายบริหารเหมือนในอดีต แต่ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยกับรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” หลัง นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งที่ปรึกษาอีก 8 คน รวมเป็น 9 คน ซึ่งมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นมา

โดยกุนซือทั้ง 9 คนของนายกฯ เศรษฐา มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานที่ปรึกษา ส่วนที่ปรึกษาคนอื่นๆ ก็รวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งกฎหมาย การเงิน เกษตร อสังหาฯ กีฬา และการเมือง มีรายชื่อประกอบไปด้วย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ , นายพิชัย ชุณหวชิร , นายศุภนิจ จัยวัฒน์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์ , นายพิชิต ชื่นบาน , นายชลธิศ สุรัสวดี , นายชัย วัชรงค์ และ นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์

หน้าที่สำคัญของ คณะที่ปรึกษาของนายกฯ หลัก ๆ จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535

 

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี

เส้นทางการทำงานของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” นั้น ก่อนเข้ามานั่งเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2544 เขาเคยทำงานอยู่ในบริษัทด้านการเงินการลงทุนมาก่อน โดยหลังจากเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงปี 2549 แล้ว “กิตติรัตน์” ยังเป็นเคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปี 2553 ก่อนจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร ในช่วงปี 2553-2554

จากนั้นจึงเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่ง “กิตติรัตน์” ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างมาก จนได้รับการแต่งตั้งให้นั่งตำแหน่งใหญ่ในฐานะของรองนายกรัฐมนตรี คุมเศรษฐกิจ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงแรกของการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อปี 2554 เพื่อผลักดันนโยบายจำนำข้าว ที่พรรคเพื่อไทยประกาศเอาไว้ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง จนนำมาซึ่งหนี้จำนวนมหาศาลในที่สุด

จากนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีการปรับครม.ใหม่ “กิตติรัตน์” มือเศรษฐกิจคู่ใจของนายกฯปู ก็ยังนั่งตำแหน่งใหญ่เหมือนเดิม แต่โยกเก้าอี้ที่นั่งควบพาณิชย์ มาเป็นควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทน ในช่วงปี 2555 

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก : กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong

ฉายา “ปุเลง…นอง”

สำหรับการทำงานในตำแหน่งของรองนายกฯ กิตติรัตน์ในช่วงนั้นต่างเจอมรสุมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องของน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 

โดยช็อตที่สร้างชื่อให้กับรองนายกฯ กิตติรัตน์ ในช่วงนั้น คือ ภาพของการยืนร้องไห้ และสวมกอดปลอบขวัญนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารนิคมฯ ไฮเทค เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2554 หลังพยายามใช้ตู้คอนเทนเนอร์กั้นกระแสน้ำที่ทะลักเข้ามาไม่ไหว จนทำให้พื้นที่นิคมถูกน้ำท่วมในที่สุด 

นั่นจึงทำให้ในช่วงปลายปี 2554 สื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาล พร้อมใจกันตั้งฉายานักการเมืองประจำปี โดยยกให้ “กิตติรัตน์” ได้รับฉายาว่า “ปุเลง…นอง” ซึ่งเป็นฉายาที่พ้องเสียงมาจาก พระเจ้าบุเรงนอง แม่ทัพพม่า โดยมีเหตุผลว่า นายกิตติรัตน์ ก็เหมือนกับเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ปุเลง เดินทางไปหานักลงทุนเพื่อแก้น้ำท่วม แต่ท้ายที่สุดก็ช่วยไม่ไหวจนน้ำตาไหลนองหน้า

วลีดัง “โกหกสีขาว”

อีกหนึ่งช็อตที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จัก นายกิตติรัตน์ มากขึ้นไปอีก นั่นคือ หลังจากนั่งตำแหน่ง รมว.คลัง นายกิตติรัตน์ได้ไปแสดงปาฐกถาในงานสัมมนา “1 ปี ยิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 พร้อมระบุถึงเป้าการส่งออกของไทยในปี 2555 ซึ่งเติบโตไม่ถึง 15% โดยบอกว่า เป็นการ "โกหกสีขาว" (white lie) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ความหมายของ โกหกสีขาว นั้น จากข้อมูลของ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า หมายถึงการพูดโกหก หรือไม่พูดความจริง หรือพูดความจริงบางส่วนด้วยเจตนาดีเพื่อถนอมรักษาน้ำใจผู้ฟัง หรือเพื่อปกปิดสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา หรือมุ่งหวังที่จะให้การโกหกนั้นนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นคุณประโยชน์ในระยะยาว 

อันถือเป็นศิลปะการพูดของผู้พูดที่ยึดกุมความจริงทั้งหมดไว้ ในทางการเมืองโกหกสีขาวถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของผู้ปกครองในอันที่จะหลีกเลี่ยงความโกลาหลทางการเมืองของประเทศ ดังนั้นจึงถือว่าผู้ถูกปกครองไม่ควรรับรู้ทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่สุ่มเสียงต่อความมั่นคงของประเทศ

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก : กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong

 

จุดสิ้นสุดรัฐมนตรี

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากนายกิตติรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม 

ต่อมาในการเลือกตั้ง ปี 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในปี 2563 ก็ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ตั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 เขาก็ได้กลับมาในรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากนายเศรษฐา ได้ตั้งให้นายกิตติรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น นายกิตติรัตน์ และ นายเศรษฐา ถือว่ามีความสนิทสนมกันมานาน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีการตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ มีนายกิตติรัตน์ เป็นรองประธาน และนายเศรษฐา เป็นที่ปรึกษา เพื่อร่างนโยบายด้านเศรษฐกิจร่วมกันด้วย

ขณะที่การใช้ชีวิตส่วนตัวนั้น ทั้งคู่ยังมีหัวใจและความชื่นชอบในกีฬาเหมือนกัน โดยมักเห็นทั้งคู่ได้ลงเล่นฟุตบอลร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่นายกิตติรัตน์นั่งเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก : กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong

 

ประวัติโดยสรุปของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีชื่อเล่นว่า “โต้ง” เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2501 ปัจจุบันอายุ 65 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2523 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประสบการณ์การทำงาน

  • อดีต รองนายกรัฐมนตรี
  • อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • อดีต ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย