ทักษิณกลับไทย: ย้อนอดีตผู้นำประเทศเอเชียที่ถูกตัดสินจำคุกเซ่นคดีทุจริต

22 ส.ค. 2566 | 01:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2566 | 08:48 น.

22 ส.ค. 2566 "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับไทยหลังหนีคดีอยู่นอกประเทศถึง 15 ปี นี่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนอย่างที่กล่าวกัน ทั้งนี้ ในอดีตรอบ 20 ปี บุคคลระดับผู้นำรัฐบาลประเทศในเอเชีย ถูกตัดสินจำคุกมาแล้วเกือบ 40 คน และนี่คือส่วนหนึ่ง

 

เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ บุคคลระดับผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี หรือ ประธานาธิบดี ถูก ดำเนินคดีและตัดสินจำคุก เซ่น คดีทุจริตคอรัปชัน มากที่สุดในเอเชียในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (นับจากค.ศ. 2003-2023) ด้วยสถิตินายกรัฐมนตรี 2 คน และประธานาธิบดี 2 คน โดยในระดับนายกรัฐมนตรีนั้น ได้แก่ 

นางฮัน เมียง ซุก (Han Myeong-Sook ) เธอเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ในปี 2007-2008 และยังเป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศอีกด้วย ฮันถูกกล่าวหารับสินบน 50,000 ดอลลาร์จากนายกวัก-ยังวุก นักธุรกิจ แลกกับการรับประกันว่าเขาจะได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทพลังงานของรัฐบาล เธอถูกตัดสินจำคุก และรับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ปีระหว่างปี 2015-2017 ก่อนจะได้รับอภัยโทษจากรัฐบาล

นายลี วาน-กู (Lee Wan-Koo) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงสั้นๆ ในปี 2015 ศาลแขวงกรุงโซลพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 8 เดือน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี เมื่อเดือนมกราคมปี 2016 หลังพบว่าเขามีความผิดจริงในคดีรับเงินบริจาคผิดกฎหมายจำนวน 30 ล้านวอนจากนักธุรกิจรายหนึ่ง โดยเหตุทุจริตเกิดเมื่อปี 2013 ขณะที่เขายังเป็นเพียงสส. แต่เรื่องมาแดงโร่เมื่อนักธุรกิจผู้นั้นออกมาเปิดโปงผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ว่าเคยติดสินบนในรูปเงินบริจาคให้แก่นายลี เรื่องฉาวนี้ทำให้นายลีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

นายลี มยอง-บัค อดีตผู้นำเกาหลีใต้ ต้องโทษจำคุก 17 ปี

ส่วนระดับประธานาธิบดี 2 คน คือ นายลี มยอง-บัค (Lee Myeong-Bak) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2008-2013 ถูกศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์เมื่อปี 2020 ที่ตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 17 ปี มีโทษปรับอีก 13,000 ล้านวอน หรือราว 340 ล้านบาท และยึดทรัพย์เป็นมูลค่าอีกกว่า 157 ล้านบาทความผิดฐานฉ้อโกง รับสินบน และใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ DAS ซึ่งต่อมาสืบทราบว่าเขาเป็นเจ้าของบริษัทตัวจริง แต่ให้ญาติบริหารเป็นหุ่นเชิดแทน ขณะเดียวกันยังพบว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ทำการยักยอกเงินจากบริษัท DAS ของตัวเองด้วย กรณีของเขาเป็นการถูกดำเนินคดีหลังพ้นตำแหน่ง

นางพัค กึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกตัดสินจำคุก 24 ปี

อีกคนที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คือ นางพัค กึน-ฮเย (Park Geon-Hye) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2013-2017 ถูกศาลตัดสินจำคุก 24 ปีเมื่อปี ค.ศ.2018 จากความผิด 16 ข้อหาที่เกี่ยวกับการทุจริตรับสินบน เปิดเผยข้อมูลลับของรัฐบาล และใช้อำนาจโดยมิชอบซึ่งทำให้เธอถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2017 การอ่านคำพิพากษาคดีของเธอถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เกาหลีใต้เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ พัค กึน-ฮเย เป็นอดีตผู้นำประเทศคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน ถัดจากอดีตประธานาธิบดี ชุน ดู-ฮวาน และ โรห์ แต-วู ผู้นำเผด็จการทหารในยุคทศวรรษ 1980-90 ที่ต้องรับโทษจำคุกข้อหาทุจริตรับสินบนหลังจากที่เกษียณอายุ (ส่วนนายลี มยอง-บัค ถือเป็นผู้นำคนที่ 4 ที่ถูกจับกุมคุมขัง เนื่องจากคดีของเขาถูกตัดสินหลังคดีของพัค กึน-ฮเย) อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2021 พัค กึน-ฮเย ได้รับการอภัยโทษเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ในยุคสมัยของประธานาธิบดีมุน แจอิน หลังจากที่รับโทษไปได้เพียง 5 ปี โดยเขาให้เหตุผลว่า “เราต้องก้าวข้ามประวัติศาสตร์อันโชคร้ายในอดีตและส่งเสริมความสามัคคีในชาติ"

นายเฉิน สุ่ยเปี้ยน อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน เจอโทษจำคุกตลอดชีวิต

ส่วนที่ไต้หวัน มีกรณีของ นายเฉิน สุ่ยเปี้ยน (Chen Shui-Bian) อดีตประธานาธิบดีซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2000-2008 ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2009 จากความผิดฐานคอรัปชันระหว่างดำรงตำแหน่งหลายกระทง รวมถึงการยักยอกเงินของรัฐ รับสินบน ฟอกเงิน และปลอมแปลงเอกสาร นายเฉินถูกข้อกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 3,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 107 ล้านบาทจากกองทุนพิเศษของประธานาธิบดีขณะดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังถูกตั้งข้อหารับสินบนอย่างน้อย 9 ล้านดอลลาร์ หรือราว 300 ล้านบาทจากการซื้อขายที่ดินของรัฐ ฟอกเงินผ่านธนาคารในสวิส และปลอมแปลงเอกสาร แต่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหาโดยอ้างว่าถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาให้จำคุกนางอู๋ ซู่ เฉิน ภริยาของนายเฉิน เป็นเวลา 1 ปี   ฐานให้การเท็จในระหว่างการสอบสวนในคดีคอรัปชันของเธอและสามี ศาลยังตัดสินจำคุกนายเฉิน ฉี ชุง นางเฉิน ซิง หยู และนางจ้าว เฉียน หมิง บุตรชาย บุตรสาว และบุตรสะใภ้ของนายเฉิน สุ่ยเปี้ยน เป็นเวลา  6 เดือน ในความผิดฐานให้การเท็จเช่นกัน

กลับมาที่ประเทศใกล้ๆ ไทยเราบ้าง ผู้นำรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ก็มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่ถูกดำเนินคดีและต้องโทษจำคุกในข้อหาทุจริตคอรัปชันกันมาแล้ว

โจเซฟ เอสตราดา อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

โดยกรณีของฟิลิปปินส์ คือ นาย โจเซฟ "เอรัป" เอเฮร์ซีโต เอสตราดา (Joseph "Erap" Ejercito Estrada) อดีตนักแสดงยอดนิยมที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง เอสตราดาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 13 ของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1998-2001โดยถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่งสังเวยคดีทุจริต  เอสตราดาถูกจับกุมและดำเนินคดีในเดือนกันยายน 2007 ศาลพิพากษาจำคุกเขาตลอดชีวิตฐานคอร์รัปชัน เบียดบังภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากยาสูบ และรับสินบนจากเจ้าของบ่อนการพนัน เขายังถูกริบเงินร่วม 90 ล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้ คืนให้เป็นของรัฐบาล ปิดฉากชีวิตทางการเมืองของอดีตผู้นำที่เคยได้รับฉายา “ขวัญใจคนยากไร้” อย่างไรก็ตาม เอสตราดาได้รับการอภัยโทษอย่างรวดเร็วโดยประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยที่เอสตราดาเป็นประธานาธิบดี

นายนาจิบ ราซัค  อดีตนายกมาเลเซีย โทษจำคุก 12 ปี

ส่วนมาเลเซีย ไม่พูดถึงไม่ได้คือคดีของ นายนาจิบ ราซัค ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2009-2018 นายนาจิบแพ้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของมาเลเซียเมื่อปี 2018 ก่อนเผชิญกับข้อกล่าวหาหนักอย่างน้อย 32 กระทง จากกรณียักยอกเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐ หรือ 1MDB กว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 141,975 ล้านบาท) อัยการระบุว่าเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 31,550 ล้านบาท) ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของเขา แต่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาในปี 2020 ศาลตัดสินจำคุก 12 ปีนายนาจิบ หลังจากตัดสินให้เขามีความผิดใน 7 ข้อกล่าวหาของการดำเนินคดีทุจริตที่เชื่อมโยงกับกองทุน 1MDB โดยโทษฐานความผิดการใช้อำนาจในทางมิชอบนั้นคือจำคุก 12 ปี และอีก 10 ปี สำหรับความผิดฐานฟอกเงิน และการกระทำผิดหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสินทรัพย์ที่ดูแลอยู่ (breach of trust) สำหรับโทษดังกล่าวจะใช้หลักเกณฑ์การลงโทษโดยให้นับเวลาจำคุกของทุกคดีไปพร้อมกัน แล้วยึดโทษจำคุกหนักที่สุด ซึ่งในกรณีของนายนาจิบ คือ 12 ปี คำตัดสินของศาลกลางแห่งมาเลเซียเมื่อปี 2022 ถือเป็นการปิดประตูความพยายามสุดท้ายของนายนาจิบเพื่อยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ศาลสูงสุดมาเลเซียยังปฏิเสธคำร้องขอชะลอการลงโทษนายนาจิบด้วย

นายอิมราน ข่าน อดีตนายกฯปากีสถาน โทษจำคุก 3 ปี

สุดท้ายและล่าสุดของบุคคลระดับผู้นำรัฐบาลในเอเชียที่ต้องรับโทษจำคุก คือ นายอิมราน ข่าน (Imran Khan) อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานวัย 70 ปี ถูกตำรวจบุกจับถึงบ้านพักในเมืองลาฮอร์และถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ข้อหาคอร์รัปชัน เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยเขาต้องนอนคุกในเมืองหลวงอิสลามาบัด หลังพบว่าเขามีความผิดจริงกรณีที่ไม่เปิดเผยทรัพย์สินส่วนที่ได้จากการขายของขวัญต่างๆ ที่เขาได้รับจากผู้นำประเทศอื่นๆ ขณะอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 140 ล้านรูปีปากีสถาน หรือ 5 แสนปอนด์ อย่างไรก็ตาม นายข่านปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันที่จะยื่นอุทธรณ์

สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น มีคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว 4 คดี มีโทษจำคุกรวม 12 ปี หากกลับประเทศไทยจะมีโทษถูกจำคุกทันที แต่ปัจจุบัน 1 ใน 4 คดีหมดอายุความแล้ว ทำให้เหลือเพียง 3 คดี และโทษจำคุกเหลือ 10 ปี