สรุปกระบวนการ "ทักษิณกลับไทย" ตั้งแต่ดอนเมือง - เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

22 ส.ค. 2566 | 01:30 น.

เปิดกระบวนการ “ทักษิณกลับไทย” ตั้งแต่เครื่องบินเจ็ทแลนดิ้งที่ดอนเมือง รับทราบข้อพิพากษา ณ ศาลฎีกา(สนามหลวง) และสิ้นสุดที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 22 ส.ค.66 นี้

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของคุณอุ๊งอิ๊ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมาตรีจากพรรคเพื่อไทย คอนเฟิร์มจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งตามแพลนนายทักษิณจะเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมือง ประเทศไทย เวลา 09.00 น. ด้วยเครื่องบินเจ็ท Gulfstream ส่วนตัวรุ่น G 650 ลำใหม่ล่าสุด มีเส้นทางการบินจากประเทศสิงคโปร์มาประเทศไทย และจะทำการลงจอดที่อาคารไพรเวท เจ็ท ( M-JET) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง


 

เปิดเส้นการเดินทาง “ทักษิณกลับไทย” สิงค์ไปร์ - ดอนเมือง - ศาลฎีกา - เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 09:00 น. 

  • นั่งเครื่องบินเจ็ท Gulfstream ส่วนตัวจากสิงคโปร์ ลงจอดที่อาคารไพรเวท เจ็ท ( M-JET) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย
  • ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพาตัวนำส่งไปบันทึกการจับกุมที่ สน.ย่อย ของสน. ดอนเมือง ส่วนแยกท่าอากาศยานดอนเมือง  
  • ส่งตัวให้เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์และคุมตัวไปศาลฎีกา แผนกคดีอาญา(สนามหลวง ) เพื่อฟังคำพิพากษา
  • เดินทางไปรับโทษตามคำพิพากษาคดี ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

และในวันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร จะถูกคุมตัวเข้ารับทราบคำพิพากษา 3 คดีที่เหลือ เพื่อพิจารณาโทษจำคุกตามคำตัดสินในชั้นศาล และเข้ารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

กระบวนการรับทราบคำพิพากษา 3 คดี

  1. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลเมียนมา ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น (เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562)
  2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562) 
  3. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยตัวบริษัทเป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ในกิจการโทรคมนาคม

 

ขั้นตอนการเข้ารับโทษ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

  • จัดทำประวัติผู้ต้องขัง 

- เจ้าหน้าที่ระบุประวัติผู้ต้องขัง ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงตนของผู้ต้องขัง

  • ชี้แจงข้อหา 

- เจ้าหน้าที่ทำการแจ้งคดีที่ผู้ต้องขังกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาล

  • ตรวจสอบเพื่อระบุตัวตน

- บันทึกลายนิ้วมือ หรือสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะ เช่น ตำหนิตามร่างกาย ผิวพรรณ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ต้องขังที่ถูกต้องตามหมายศาล

  • เข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ 

- นำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน
- หากมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง

  • จำแนกและจัดลำดับขั้นนักโทษ

- ผู้ต้องขังจะถูกจำแนกตามประเภทของคดีความ จากการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อวางมาตรการควบคุม


ในส่วนของการพิจารณานับโทษและจำนวนปีที่นายทักษิณ ชินวัตรจะได้รับการต้องโทษ รายงานข่าวจากศาลยุติธรรมระบุว่า จะต้องดูที่คำพิพากษาในแต่ละคดีอีกครั้ง รวมถึงเรื่องการพักโทษของผู้ต้องหาสูงวัย ก็ต้องรอคำตัดสินเรื่องการนับโทษของศาลก่อน จึงจะรู้ว่านายทักษิณเข้าเกณฑ์ที่สามารถพักโทษได้หรือไม่ ฐานเศรษฐกิจจะมารายงานความคืบหน้าต่อไป