สื่อนอกวิเคราะห์ “ทักษิณกลับไทย” การเมืองคลี่คลายหรือวุ่นวายหนักกว่าเก่า

22 ส.ค. 2566 | 08:16 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2566 | 08:47 น.
1.4 k

สื่อนอกเกาะติดกระแส “ทักษิณกลับไทย” ที่เกิดขึ้นวันที่ 22 ส.ค. วันเดียวกับที่การประชุมรัฐสภากำลังจะโหวตนายกฯ รอบ3 ชี้ต้องจับตาการเมืองประเทศไทยจะเดินหน้า หรือวุ่นวายอีกครั้ง

 

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทาง กลับประเทศไทย ครั้งแรกในรอบ 15 ปีแล้วเช้าวันนี้ (22 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ รัฐสภา กำลังจะลงมติว่าจะ รับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ พรรคเพื่อไทย(พท.) เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เป็นแคนดิเดตหรือไม่

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายทักษิณ วัย 74 ปี คือนักการเมืองไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุดและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเขาคนนี้ต้องใช้เวลาชีวิตราว 15 ปีหนีคดีอยู่ในต่างประเทศหลังถูกรัฐประหาร

การประกาศกลับไทยของนายทักษิณครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นขณะเดียวกับที่การเมืองไทยกำลังเกิดภาวะชะงักงันหลังจบการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งเมื่อพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกสกัดโดยสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารชุดก่อน ทำให้พรรคเพื่อไทยที่นำโดย นางสาว แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวของทักษิณ ได้ก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนด้วยการยอมกลืนเลือดจับมือกับพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับทหารและรัฐบาลชุดก่อน หรือที่รู้จักกันดีในสื่อไทยว่า “พรรคสองลุง” ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเครื่องบินส่วนตัวเดินทางกลับประเทศไทยวันนี้ (22 ส.ค. 2566)

รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิเคราะห์การเมืองไทย กล่าวกับเอเอฟพีว่า นายทักษิณจะต้องหาหลักประกันความมั่นคงจากคนของตนเองที่จะเข้าไปนั่งในคณะรัฐบาลชุดใหม่ และแม้ความไม่พอใจในทักษิณยังคงมีอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของไทย แต่ความสำเร็จเหนือความคาดหมายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ก็ทำให้คนเหล่านั้น ต้องเลือกระหว่าง “ปีศาจสองตน” ซึ่งพวกเขาก็ย่อมต้องเลือกคนที่น่ากลัวน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า ประชาชนจำนวนมากที่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเพราะไม่ต้องการได้พรรคที่มีความเชื่อมโยงกับทหารอย่างพรรคสองลุง อาจมองว่าการที่เพื่อไทยหันมาจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถือเป็นการหักหลังความตั้งใจของพวกเขาได้เช่นกัน

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า "นี่คือการต่อสู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่" "คนไทยเปลี่ยนไปแล้ว หลายคนรักทักษิณแต่รักประชาธิปไตยมากกว่า" และว่า "ทักษิณควบคุมพรรคเพื่อไทยได้ แต่ก็มีอำนาจอื่นที่สามารถควบคุมทักษิณได้เช่นกัน"

กลุ่มคนเสื้อแดงรอให้การต้อนรับ "ทักษิณกลับบ้าน"

สื่อต่างประเทศรายงานว่า แม้ยังไม่ชัดเจนว่าทักษิณจะต้องรับโทษจำคุกนานแค่ไหนเมื่อกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งพรรคพวกของเขาหวังว่าอาจขอให้ทักษิณย้ายไปกักบริเวณในบ้านพักหลังจากรับโทษในเรือนจำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แม้ว่ายังไม่สามารถรับประกันได้ว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

"เมื่อทักษิณกลับเข้าประเทศ เขาอาจต้องการการสนับสนุนทั้งจากกองทัพและสถาบันฯ" และว่า การตัดสินใจของเพื่อไทยที่จับมือกับขั้วที่เคยอยู่ตรงกันข้ามทางการเมือง ทำให้ทักษิณกลายเป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและชนชั้นนำ

"สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นทักษิณกลายเป็นเรื่องเก่าในอดีตไปแล้ว แต่กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทักษิณถือเป็นความหวังใหม่ของพวกเขา" กรกช แสงเย็นพันธ์ แห่งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวกับเอเอฟพี

ด้าน สำนักข่าวอัล-จาซีรา รายงานผลการสำรวจความเห็นคนไทยที่จัดทำโดยสถาบันนิด้า (National Institute for Development Administration: NIDA) และเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (20 ส.ค.) ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวกับอัล-จาซีราว่า การที่นายทักษิณกลับมาในวันเดียวกับที่มีการโหวตนายกฯแสดงให้เห็นว่า เขามั่นใจว่าแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนในการลงมติรอบแรกแบบม้วนเดียวจบ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พรรคเพื่อไทยประกาศเมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) ว่า จะจับมือกับ 11 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงพรรครทสช. และพปชร.  โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะทำหน้าที่ตามที่ได้รับปากไว้กับประชาชน รวมถึงการต่อต้านการทุจริต การเพิ่มอัตรารายได้ขั้นต่ำ และแจกเงินดิจิทัล นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังรับปากว่าจะปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จะไม่แตะต้องมาตรา 112 อย่างแน่นอน