มาตรา 143 พ.ร.ป.เลือกตั้ง คืออะไร ทำไมทำผิดถึงติดคุกนาน 10 ปี

13 มิ.ย. 2566 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 11:52 น.
1.4 k

ทำความรู้จัก มาตรา 143 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. คืออะไร หลังเกิดประเด็นร้อนคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ทำไมทำผิดถึงมีโทษหนัก ติดคุกสูงสุด 10 ปี พร้อมให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยาวนานถึง 20 ปี

ประเด็นร้อนการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังปรากฏหลักฐานชิ้นใหม่ คือ คลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งที่ผ่านมา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงว่า ไม่ตรงกับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 อย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกัน พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ได้โพสต์ข้อมูลลงในเฟซบุ๊ก เป็นข้อกฎหมาย มาตรา 143 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมข้อความว่า คดีหุ้นไอทีวี คนทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ เจอคุก 5 - 10 ปี นักร้องเจอคุก 7 - 10 ปี ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว มาตรา 143 พ.ร.ป.เลือกตั้ง คืออะไร

รู้จัก มาตรา 143 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับข้อกฎหมาย มาตรา 143 ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ระบุไว้นั้น อยู่ในหมวดที่ 8 ของพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เป็นเรื่องของบทกำหนดลงโทษ โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจําคุก ตั้งแต่ 7 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1.4 บาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ถ้าการกระทำตามวรรคสอง หรือวรรคสามเป็นการกระทำ หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

อ่าน : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561