ป.ป.ช.จับตา”เงินแป๊ะเจี๊ยะ”ฝากเด็กเข้าเรียน เข้าข่ายรับสินบน

29 มี.ค. 2566 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2566 | 15:42 น.

ป.ป.ช.ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริต เรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทนทางการศึกษา กำชับสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ร่วมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2566

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. ของทุกปี เป็นระยะเวลาที่มีการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาทั่วประเทศ และอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ”

โดย“แป๊ะเจี๊ยะ”ถือว่าเป็นเงินสินบนรูปแบบหนึ่ง ที่ผลักภาระไปให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งนอกจากจะต้องส่งเสียให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าแล้ว ยังต้องเจอค่าแป๊ะเจี๊ยะที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าเล่าเรียนหลายเท่าตัวเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่มุ่งหวังได้ ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ผิด 

แทนที่จะให้ค่ากับการพยายามตั้งใจศึกษาเล่าเรียน แต่กลับยอมจ่ายเงินตอบแทนจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นคือ หลายกรณีพบข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแป๊ะเจี๊ยะ ใช้อำนาจบีบบังคับให้สถานศึกษารับนักเรียนที่จ่ายเงิน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่าได้มีการมอบนโยบายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเพราะถือได้ว่าเป็นวงจรส่งเสริมการทุจริต โดยในปี 2562 สำนักงานป.ป.ช.ได้มีการผลักดันมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

ครม.ได้รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการ    เข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือ ปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
 

สำหรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ต่อ สพฐ. คือ ให้พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ ตอบแทน

นอกจากนี้ให้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการรับนักเรียน โดยมุ่งให้ความสำคัญ   กับการให้เด็กได้ศึกษาต่อยังสถานศึกษาใกล้บ้าน และทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการแจ้งค่าใช้จ่ายและรายละเอียด  การเก็บเงินบำรุงการศึกษาให้ผู้ปกครองนักเรียนได้รับทราบไว้โดยชัดเจน

​ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการโดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นย้ำว่าการรับนักเรียนปีการศึกษา 2566 ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่มีการใช้เงินแลกที่นั่งเรียน ห้ามมี แป๊ะเจี๊ยะ

และหากพบจะวางบทลงโทษสูงสุด สอดคล้องกับสำนักงาน ป.ป.ช.และเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริต ที่จะร่วมเป็นหูเป็นตา เพื่อมุ่งหวังว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยจะไม่ต้องจบอยู่ที่เงินสินบน