ร้อง ป.ป.ช. สอบพิรุธกระบวนการสรรหา เลขาฯ กสทช.

20 มี.ค. 2566 | 21:09 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 21:34 น.

ร้อง ป.ป.ช. สอบกระบวนการสรรหา เลขาฯ กสทช. มิชอบด้วยกฎหมาย พบพิรุธประกาศเงื่อนไขการสรรหาให้ประธานเบิ้ลโหวต รวบอำนาจตัดสินแต่เพียงผู้เดียว

(วันนี้) 20 มีนาคม 2566 นายอิทธิพล แสงสุรินทร์ หัวหน้าสำนักงาน ส. ปิยะธรรม ทนายความ เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ (ป.ป.ช.) เรียกร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่กำหนดวิธีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส 

โดยออกประกาศให้ตนเอง (ประธาน กสทช.) มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในการดำเนินการคัดเลือก และเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ท่านอื่น ทำหน้าที่เพียงเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้สมัครแต่อย่างใด ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายระเบียบปฏิบัติ ที่ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรอิสระ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว มิได้สะท้อนความโปร่งใสของขั้นตอนที่เปิดกว้างและตรวจสอบได้ แตกต่างจากการสรรหาเลขาฯ ครั้งก่อน เมื่อปี 2554 ที่คณะกรรมการ กสทช. ทุกคนมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน  

 ประธานเบิ้ลโหวต ผูกขาดอำนาจสรรหาเลขาฯใหม่ 

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีการจัดประชุมคณะกรรมการ กสทช.(บอร์ด) นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยประธาน กสทช. นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดว่า ประธาน กสทช.จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในการสมัครเลขาธิการแต่เพียงผู้เดียว แล้วถึงจะส่งต่อให้แก่คณะกรรมการลงความเห็นชอบ 

โดยประธาน อ้างอิงถึง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 ที่ว่า ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. โดยที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องใช้วิธีการโหวตลงคะแนนเสียง ซึ่งการลงคะแนนของคณะกรรมการ เสียงเท่ากันที่ 3:3 แต่ประธานฯ ออกเสียงซ้ำอีกครั้ง ส่งผลให้คะแนนโหวตกลายเป็น 4:3 เพื่อให้ตนเองสามารถคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเลขาฯ ได้แต่เพียงผู้เดียว 

พบพิรุธเงื่อนไขการสรรหา ระบุ ประธานจิ้มชื่อ บอร์ดแค่ลงความเห็น 

ในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ประธาน กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมีข้อที่น่ากังขาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือก ข้อ 8 และข้อ 9  
   
โดย ข้อ 8 การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ระบุว่า ประธาน กสทช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แต่จากนั้น ประธานจะเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ผ่านการร่วมพิจารณาของคณะกรรมการ บอร์ด กสทช ทั้งหมด 

ส่วนข้อ 9 หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกและการประกาศผลการคัดเลือก ระบุว่า ประธาน กสทช. เป็นเพียงผู้เดียวที่จะดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมินจากเอกสารประกอบการสมัคร การแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ จากรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด จากนั้น ประธานจึงจะเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ส่งไปยังคณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านอื่น ซึ่งมีหน้าที่เพียงแค่เห็นชอบเท่านั้น  โดยที่คณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านอื่น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้สมัครคนอื่นเข้าสู่การพิจารณา นอกเหนือจากผู้ที่ประธานได้เลือกไว้แล้วตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด  

เทียบประกาศสรรหา ปี 2554 ผ่านมติบอร์ดทั้งคณะ ต่างจากปี 2566 จบที่ประธานคนเดียว 
  
จากประกาศ การรับสมัครคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. เมื่อปี 2554 ข้อ 10 ระบุชัดว่า คณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด จะให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และพิจารณาคัดเลือก โดยมีการลงมติจากคณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด โดยเป็นการลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.  
ซึ่งเมื่อเทียบกับ ประกาศ การรับสมัครคัดเลือกฯ ในปี 2566 กระบวนการในการคัดเลือกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก กลับตกมาอยู่ที่ประธาน กสทช. แต่เพียงคนเดียว คณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านที่เหลือ มีหน้าที่เพียงว่าจะให้ความเห็นชอบเท่านั้น  

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ควรจะสะท้อนถึงความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันได้แก่ คณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา อีกทั้ง ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อจะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่า เลขาธิการ กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแม่บ้านของ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสารโทรคมนาคมอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล ตามหลักขององค์กรอิสระที่พึงมี 
 

จี้ประชุมบอร์ดใหม่ 7 คนทบทวนมติวิธีการสรรหา เลขาฯกสทช.ใหม่

วันนี้ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยระบุว่า บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2566 ประกาศ ณ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยหากนับรวมคณะกรรมการทั้งหมด ขณะนี้ครบ ทั้ง 7 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ดังนั้น ประกาศการรับสมัครฯ ที่ผ่านมา ที่ประธาน กสทช. ใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวต รวบอำนาจในการคัดเลือกมาไว้ที่ประธานแต่เพียงผู้เดียว ก็ควรจะมีการทบทวนและลงมติในหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่อีกครั้ง จากคะแนนโหวตของคณะกรรมการทั้ง 7 คน เพื่อให้โปร่งใสและเป็นเอกฉันท์