“ศักดิ์สยาม” ส่งไม้ต่อ "อนุทิน" ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคมแทน

03 มี.ค. 2566 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 13:51 น.
854

“ศักดิ์สยาม” เตรียมส่งต่อ “อนุทิน” รับช่วงแทน หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เหตุส.ส. 54 คน ยื่นคำร้อง ปมซุกหุ้นธุรกิจบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า เบื้องต้นตนจะเข้าชี้แจงตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญและหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้ หลังจากรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ 

 

“ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนดังนั้นโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และงานอื่นๆ ที่ต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะไม่สะดุดอย่างแน่นอน เนื่องจากรองนายกอนุทินก็สามารถพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนได้” 

สำหรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้นสืบเนื่องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ