“สร้างอนาคตไทย”แนะรัฐปรับ “ท่องเที่ยว”กระจายรายได้ชุมชน-รายย่อย

26 พ.ย. 2565 | 20:06 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2565 | 03:12 น.

“สร้างอนาคตไทย”ชี้รัฐกระตุ้นท่องเที่ยวผิดทาง ควรดูแลผู้ประกอบการ SME เสนอโมเดลกระจายประโยชน์ให้รายย่อย-ชุมชนมากขึ้น

วันนี้ (26 พ.ย.65) พรรคสร้างอนาคตไทย แถลงข่าวหัวข้อ “ปัญหาการท่องเที่ยวไทย ไร้ทางแก้ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่” โดย นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค นายพงศ์พรหม ยามะรัต ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านพัฒนาเมือง นายสรรเพ็ชญ ศรีสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว  
 

นายนริศ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่นักท่องเทียวต่างชาติกำลังกลับเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่มีคำถามว่าเราได้ใช้โอกาสที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ภาคการท่องเทียวเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ 
 

เพราะจากการที่พรรคสร้างอนาคตไทยได้ไปพบปะผู้ประกอบการในพื้นที่ ยังได้รับความคิดเห็นว่าแม้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะรายกลางรายเล็กกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆมากนัก สถานะกิจการของพวกเขายังตกอยู่ในความเสี่ยงสูงมาก
 

นายนริศ เชยกลิ่น

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆที่ภาครัฐใช้มาตลอดช่วง 3 ปี ตั้งแต่หลังเกิดการระบาดโควิด เป็นมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมสอดรับกับสถานการณ์แต่ในละช่วงเวลาหรือไม่ เช่น กรณีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งปัจจุบันดำเนินมาถึงเฟสที่ 5 แล้วนั้น แต่วันนี้ก็พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ 
 

ดังนั้นพรรคฯ จึงต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่านโยบายที่ผ่านมาและที่จะทำในอนาคตผิดทิศผิดทางอย่างไร พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณา  

 

ด้าน นายสรรเพ็ชญ กล่าวว่า โควิดทำให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายกลางรายเล็กต้องล้มละลายปิดกิจการไปจำนวนมาก ส่วนที่เหลื่อรอดอยู่ก็ตกในสภาวะยากลำบาก และเชื่อว่าในปีหน้าจะต้องปิดตัวลงอีกมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมามากขึ้น แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์ 
 

เนื่องจากไม่มีกำลังพอที่จะปรับปรุงกิจการ หรือจ้างงานมารองรับบริการนักท่องเที่ยว ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเวลานี้คือ ต้องช่วยฟื้นฟูกิจการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอีท่องเที่ยวอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยการปรับโครงสร้างหนี้ หยุดพักหนี้ทั้งต้นและดอก พร้อมกับให้เงินกู้ใหม่เพื่อให้กลับมาเปิดกิจการได้อีก จากที่ผ่านมานโยบายเรื่องนี้ของภาครัฐทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้
 

นอกจากนี้ รัฐควรปรับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวใหม่ จากปัจจุบันกระตุ้นให้เกิดความต้องการของตลาดด้านเดียว เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แต่ไม่ได้กระตุ้นฝั่งผู้ให้บริการที่จะรองรับนักท่องเที่ยว หรือไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการในวงกว้างมีความสามารถในการรองรับตลาด ผลประโยชน์จึงไปตกเฉพาะทุนใหญ่ 
 

รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบมักจะใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดกิจกรรมหรืออีเวนท์กระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาพบว่าไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงควรทบทวนเอางบประมาณส่วนนี้ ไปปรับปรุงพื้นที่ท่องเที่ยวให้สวยงามขึ้นจะดีกว่าหรือไม่ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวมมากกว่า

ด้านนายพงศ์พรหม กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวล้มเหลวมาตลอด เพราะเอาปริมาณนักท่องเที่ยวและการเติบโตของรายได้เป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้มองลึกลงไปว่ารายได้ที่เกิดขึ้นนั้นไปสู่คนกลุ่มไหน วันนี้ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือ ทุนขนาดใหญ่ โรงแรมขนาดใหญ่ ไม่ได้เกิดกับกิจการขนาดเล็กหรือชุมชนในวงกว้าง 
 

ดังนั้น วันนี้นโยบายการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องวัดกันที่เม็ดเงินที่เกิดขึ้นนั้นไปก่อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือชุมชุนหรือไม่ ซึ่งการวัดแบบนี้จะเป็นการทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างแท้จริง
 

“วันนี้นักท่องเที่ยวไปกระจุกตัวอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวเดิมๆ เราต้องทำให้นักท่องเที่ยวกระจายไปยังพื้นที่ใหม่ๆในชุมชนใหม่ๆ เช่นที่กรุงเทพฯ แทนที่จะเที่ยวที่เยาวราชเท่านั้น ทำไมเราไม่โปรโมทให้เขาไปเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรม มอญทาวน์ ออฟ เอเชีย ที่สมุทรปราการ ไปเที่ยวชมพหุวัฒนธรรมที่เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรีที่บรรยากาศยังมีกลิ่นอายความเป็นกรุงเทพฯเมื่ออดีต เพื่อกระจายรายได้ให้ถึงชุมชนในวงกว้าง” นายพงศ์พรหม กล่าว