"กรณ์"ชี้นโยบายเศรษฐกิจล้มเหลว ชนวนนายกฯ อังกฤษลาออก

21 ต.ค. 2565 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 17:22 น.

"กรณ์"วิเคราะห์ นโยบายเศรษฐกิจล้มเหลว เหตุ"ลิซ ทรัสส์"นายกฯ อังกฤษ ทนกระแสกดดันจากพรรคและสังคมไม่ไหว จำต้องลาออก เตือน!ไทยต้องเฝ้าระวัง เศรษฐกิจโลกเปราะบางมาก

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรมว.คลังโพสต์เฟซบุคแสดงความเห็นต่อการลาออกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางลิซ ทรัสส์ โดยระบุว่า 3 วันก่อน ตนได้แสดงความเห็นว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษท่าจะอยู่ยาก เพราะหนีความรับผิดชอบความผิดพลาดในนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศออกไปไม่ได้

 

วันนี้นายกฯอังกฤษได้ประกาศลาออกแล้ว! ไม่สามารถทนต่อกระแสความไม่พอใจทั้งในพรรค และในสังคมได้ หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งเพียง 45 วัน เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากมองในมุมหนึ่งคือ ความเละเทะต่อเนื่องในการเมือง และเศรษฐกิจอังกฤษ นับแต่การลงคะแนน Brexit เมื่อ 6 ปีก่อน แต่มองอีกมุมหนึ่ง อังกฤษยังมีวัฒนธรรมการเมืองที่ยืดหยุ่น และพร้อมปรับตัวต่อกระแสความรู้สึกของประชาชน

 

 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

 

"ประเทศไทยเรา ก็เคยมีการตัดสินใจลักษณะนี้เช่นกัน ตอน นายกฯ ชวลิต ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถือได้ว่าการเสียสละโดยผู้มีอำนาจ คือการให้โอกาสบ้านเมือง" หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว

 

 

 

อดีต รมว. คลัง กล่าวว่า ขออธิบายสั้นๆ ว่านโยบายที่ Liz Truss ประกาศออกมาที่ทำให้ต้องลาออกหลังเป็นนายกฯเพียง 45 วัน คำตอบคือ เธอได้ประกาศใช้เงินกู้ก้อนใหญ่ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ในการชดเชยค่าพลังงานให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของอังกฤษ เพื่อลดภาระจากค่าก๊าซที่แพงขึ้นจากสงครามยูเครน

 

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เธอได้ประกาศลดภาษีหลายชนิด (รวมถึงภาษีรายได้กลุ่มคนรวยที่สุดในประเทศ) ทำให้รายได้รัฐบาลลดลงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี เท่านั้นแหละเงินปอนด์ทรุดทันที และนักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างแรง ส่งผลกระทบทันทีต่อประชาชนที่มีหนี้สิน ซึ่งสำหรับอังกฤษนั้นกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุดคือ ผู้กู้ยืมหนี้มาซื้อบ้าน ซึ่งภาระดอกเบี้ยของเขาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าทันที

 

ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนถึงขั้นวิกฤติจนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตัวเอง เพื่อป้องกันมิให้เหล่ากองทุนบริหารบำเหน็จบำนาญที่ถือพันธบัตรรัฐบาลต้องล้มละลาย นางลิซ ทรัสส์ จึงโดน ส.ส.พรรคตนเองกดดันให้แสดงความรับผิดชอบ เพราะกระแสสังคมปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลอย่างแรง

 

"เศรษฐกิจโลกเปราะบางมาก ทุกรัฐบาลต้องระมัดระวัง อังกฤษลืมตัวนึกว่ายังเป็นประเทศมหาอำนาจที่ออกนโยบายอะไรก็ได้ บทเรียนนี้ราคาแพง" อดีตรมว.คลัง กล่าว