ศิริกัญญา จี้"กสทช." เปิดผลการศึกษาต่างประเทศ ปมควบรวมทรู-ดีแทค

18 ต.ค. 2565 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 00:32 น.

"ศิริกัญญา"เรียกร้อง กสทช. เปิดเผยรายงานผลการศึกษาต่างประเทศ 10 ล้าน และรายงานการศึกษาอื่นกรณีการควบรวมทรู-ดีแทคต่อสาธารณะ

วันที่ 18 ต.ค. 2565 จากกรณีที่มีทนายความภาคประชาชนขู่ฟ้อง นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์ผู้บริโภค ที่ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค ของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ อ้างว่าเป็นความลับของทางราชการ 

 

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นว่า นี่นับว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อฟ้องเพื่อปิดปากภาคประชาชน เพราะข้อมูลที่เผยแพร่ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นข้อมูลที่กสทช.ต้องเผยแพร่ตามกฎหมายอยู่แล้ว  ยิ่งถ้าเป็นทนายความภาคประชาชนก็ไม่ควรฟ้องปิดปากภาคประชาชนด้วยกันเอง 

 


“ตามพรบ.กสทช. มาตรา 59 ได้กำหนดให้ กสทช.ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ต่อสาธารณะ ซึ่งรวมถึงผลการศึกษา และวิจัย และผลงานอื่นๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ (วงเล็บ 5)” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญา จี้\"กสทช.\" เปิดผลการศึกษาต่างประเทศ ปมควบรวมทรู-ดีแทค

 

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า  รายงานฉบับนี้ นับเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ทำให้บอร์ด กสทช. ต้องเลื่อนการพิจารณาลงมติการควบรวมทรู-ดีแทคอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ประชาชนเกิดความสนใจว่าเนื้อหาที่แท้จริงเป็นอย่างไร การที่มีผู้นำมาเผยแพร่จึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด กสทช. จึงไม่เป็นผู้เผยแพร่เอง 

 

ส่วนหนึ่งจากรายงานฉบับนี้ที่มาการเผยแพร่โดยสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า “ผลจากสภาพตลาดที่ไม่แข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจนั้น การทำให้สภาพตลาดกลับคืนมาด้วยวิธีการเพิ่มการแข่งขันผ่านมาตรการต่างๆ ทำได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม MNO (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายของตัวเอง) รายใหม่ ,การเพิ่มผู้เล่น MVNO (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง)

 

รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแข่งขันหรือทางราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจไทยในภาพรวมได้ผลกระทบรุนแรงได้ ซึ่งจะมีการศึกษาในรายงานงวดต่อไป

 

ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย หากไม่มีการแข่งขันที่ดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมในด้านอื่นๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบในภาพกว้างได้ เช่น การลดลงของเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI)

 

ในทางตรงข้าม ตลาดในประเทศไทยอาจจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อหลายปีก่อนที่มีจำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักเหลือเพียง 2 ราย หรือในประเทศเม็กซิโกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบจากการไม่มีการแข่งขัน ทำให้อัตราค่าบริการอยู่ในราคาที่สูง และการใช้งานอยู่ในระดับต่ำ และขาดแคลนเทคโนโลยีใหม่”

ศิริกัญญา จี้\"กสทช.\" เปิดผลการศึกษาต่างประเทศ ปมควบรวมทรู-ดีแทค

 

รายงานผลศึกษาฯ ย้ำว่า การควบรวมกิจการจาก 3 ราย เป็น 2 ราย จะทำให้ไทยล้าหลัง เห็นได้จากตัวอย่างของฟิลิปปินส์ โดยธนาคารโลกระบุว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลในฟิลิปปินส์ยังห่างไกลจากศักยภาพอย่างเต็มที่ และประสิทธิภาพของประเทศมักจะตามหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาคหลายแห่ง”

 

ขณะที่ดัชนีการยอมรับดิจิทัลของธนาคารโลก (DAI) และดัชนีย่อย 3 กลุ่ม ผู้คน รัฐบาล และธุรกิจ ระบุว่า ฟิลิปปินส์อยู่หลังค่าเฉลี่ยของโลกในการนำดิจิทัลมาใช้งานโดยทั่วไป

 

จากผลการศึกษานี้ หากบอร์ดกสทช. ยึดเอาผลประโยชน์โดยรวมเป็นหลัก จำเป็นต้องลงมติไม่อนุญาตให้การควบรวมเกิดขึ้นได้แน่ การปกปิดข้อมูลยิ่งเท่ากับเป็นพฤติกรรมอำพราง ให้สามารถตัดสินใจโดยที่ขัดแย้งกับสาธารณประโยชน์ได้ง่ายขึ้น


นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาทั้งหมดก่อนหน้านี้ต่อสาธารณะ ทั้งที่ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ รวมไปถึงผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ เพราะผลการศึกษาเหล่านี้ล้วนใช้เงินภาษีประชาชนในการศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อย

 

เฉพาะรายงานการศึกษาต่างประเทศได้ข่าวมาว่ามูลค่ามากถึง 10 ล้านบาท และกสทช. ยังจำเป็นต้องตอบข้อข้องใจต่อสังคมในหลายประเด็นที่มีการหยิบยก

 

เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ ที่มีการถือหุ้นโดยตระกูลเจียรวนนท์ กรณีการตีความกฎหมายของกฤษฎีกา  ที่ผ่านมา กสทช.ใช้วิธีการนิ่งเงียบมาโดยตลอด ซึ่งจะยิ่งสร้างความกังวลใจ และทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนมากขึ้นทุกที ว่ากสทช. จะสามารถตัดสินใจได้อย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนได้จริง