ส่วนดีของการไลฟ์สดการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.

17 ก.ย. 2565 | 09:09 น.
801

ส่วนดีของการไลฟ์สดการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. : คอลัมน์เศรษฐกิจ 3 นาที โดย... ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3819

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้เคยเห็น หรือเคยได้ยินข่าวการทำงานผ่านการไลฟ์สดของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่มากก็น้อย หรือ หากท่านยังไม่เคยทราบข่าวมาก่อน ก็ขออนุญาตสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้มีรูปแบบการทำงานแบบใหม่ โดยให้นำเสนอการทำงานของผู้ว่าฯ แบบถ่ายทอดสด ทำให้เห็นการทำงานที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ


ทั้งนี้ หลายคนอาจจะมีความเห็นต่อการไลฟ์สดที่แตกต่างกันออกไป โดยบางคนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย 

ในบทความนี้ ผมอยากจะขอให้ความเห็นต่อการไลฟ์สดการทำงานของผู้ว่าฯ ว่ามีส่วนดีอยู่ไม่น้อย ซึ่งสามารถแยกเป็นรายประเด็นได้ ดังนี้

 

ประการแรก เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้เห็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง จึงทำให้เกิดการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง หรือ ก็คือ learning by doing  

ประการที่สอง การได้เห็นถึงการทำงานแบบลงพื้นที่จริง เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างการเป็นหัวหน้างานที่ดี หรือ ก็คือ to lead by example  

 

ประการที่สาม เป็นการเปิดเผยข้อมูลทำให้ประชาชนที่ติดตามเห็นถึงต้นตอของปัญหา (root cause) ซึ่งเป็นการช่วยกระทุ้งให้สังคมลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลง เป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นทางมากกว่าจะหวังพึ่งให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียว 

 

ประการที่สี่ เป็นการเปิดเผยข้อมูลการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นถึงความจริงใจ และความโปร่งใสในการทำหน้าที่ ช่วยสร้างความเชี่อมั่น (public trust) ของประชาชนต่อการทำงานของรัฐ 

                                         ส่วนดีของการไลฟ์สดการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.

ประการที่ห้า เป็นการสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นระหว่างแต่ละพื้นที่ที่อาจจะถูกสุ่มเข้ามาตรวจสอบผลงาน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใสของกระบวนการให้คุณให้โทษตามผลงานและความสามารถในการแก้ไขปัญหา การให้บริการกับประชาชน (metriocracy)

 

ประการที่หก เป็นการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นของประชาชน (public participation) ที่จะเสนอทางออกผ่านช่องทางต่างๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น    

 

ผู้เขียนเชื่อว่า การไลฟ์สดของผู้ว่ามีส่วนดีอยู่ไม่น้อย และเป็นต้นแบบที่หลายหน่วยงานควรจะนำไปเป็นแบบอย่างแนวทางในการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเผยข้อมูล ที่ควรเน้นทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ มีความโปร่งใส ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลการทำงาน และมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานได้มากยิ่งขึ้น