การพิจารณาควบรวมธุรกิจ : ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องตอบกับประชาชน

10 ก.ค. 2565 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 22:24 น.

การพิจารณาควบรวมธุรกิจ: ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องตอบกับประชาชน : คอลัมน์เศรษฐกิจ 3 นาที โดย... ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ

ประเด็นเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจในช่วงนี้ คือ การที่บริษัท AIS ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมเบอร์ต้นๆ ของไทย พยายามเข้าซื้อกิจการ 3BB หรือธุรกิจที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรือเน็ตบ้าน ซึ่งผลการควบรวมจะทำให้จำนวนผู้ให้บริการในตลาดลดลง ทำให้การแข่งขันในตลาดเปลี่ยนแปลงไป และน่าจะส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ในทางวิชาการ การควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจ ผลเสียต่อเศรษฐกิจจะมาในรูปของธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นเพราะการควบรวมธุรกิจทำให้การแข่งขันตลาดลดลง ประชาชนอาจจะต้องเสียค่าบริการที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ 

 

ด้านผลดีต่อเศรษฐกิจ มักจะมาในรูปแบบของความเข้มแข็งของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีการประหยัดทรัพยากรจากธุรกิจควบรวมที่สามารถใช้ร่วมกัน ธุรกิจมีความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น ตลอดจนธุรกิจมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการในระยะยาวที่ดีกว่าเดิม

 

ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ในการอนุมัติการควบรวมกิจการจึงต้องศึกษาเปรียบเทียบเพื่อประเมินผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นว่าสังคมไทยจะได้รับประโยชน์และโทษมากน้อยเพียงใด และแบบไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

 

การพิจารณาควบรวมธุรกิจ : ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องตอบกับประชาชน

 

 

จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่าการประเมินผลเสียมักจะประเมินออกมาได้ค่อนข้างง่ายในทางวิชาการ โดยอาศัยข้อมูลสถิติในอดีต เช่น พฤติกรรมการแข่งขัน การกำหนดราคา ความต้องการสินค้าและบริการมาเข้าแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินผลกระทบของการมีอำนาจเหนือตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลผลดีที่เกิดขึ้นมักจะประเมินออกมาได้ยาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นการคาดการณ์ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่ผู้ยื่นขอควบรวมมักจะมีแรงจูงใจที่จะฉายภาพที่ดีเกินความเป็นจริง

 

เนื่องจากการตัดสินใจของภาครัฐจะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต และส่งผลกระทบต่อประชาชน/ผู้บริโภคอย่างมหาศาล ผู้เขียนขอเสนอให้ภาครัฐเลือกพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญๆ ที่มักจะถูกละเลยในการพิจารณา ดังนี้

 

หนึ่ง ผลดีที่มักจะถูกอ้างว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวม มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นขนาดไหน? ภาครัฐมีความสามารถในการติดตาม กำกับดูแล และให้บทลงโทษหากธุรกิจไม่สามารถดำเนินการตามสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างได้หรือไม่? อะไรคือหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับผลดีดังกล่าวอย่างแท้จริง?

 

สอง ผลดีที่ถูกกล่าวอ้างว่าจะเกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการควบรวมธุรกิจหรือไม่? หรือเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี การแข่งขันในตลาด ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นการควบรวมตามที่กล่าวอ้าง

 

สาม อะไรคือผลเสียในระยะยาวที่น่าจะเกิดขึ้น? เช่น การอนุมัติให้เกิดการควบรวมจะส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยากมากยิ่งขึ้น ประชาชน/ผู้บริโภคจะถูกจำกัดทางเลือกในการใช้บริการตลอดไป หรือจนกว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้แต้มต่อกับธุรกิจรายใหม่มหาศาลเพื่อทำให้ตลาดกลับมามีผู้เล่นและมีการแข่งขันดังเดิม