การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ไม่ให้ทำผิดกฎหมายการแข่งขัน

26 ก.ย. 2564 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2564 | 18:19 น.
626

นายชลากร ภู่เจริญ นักวิเคราะห์ธุรกิจสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เขียนบทความเรื่องการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเชิงโครงสร้าง เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวโดยเฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ

ชลากร  ภู่เจริญ

 

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 51 กำหนดให้มีการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นภารกิจในการกำกับดูแลเชิงโครงสร้างที่สำคัญของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดให้การรวมธุรกิจหมายความถึงการกระทำใน 3 ลักษณะได้แก่

 

การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ไม่ให้ทำผิดกฎหมายการแข่งขัน

 

1.การควบรวมกิจการ หมายถึง การรวมธุรกิจที่ธุรกิจหนึ่งคงอยู่และอีกธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้น 2. การเข้าซื้อสินทรัพย์ หมายถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจอื่น 50% ขึ้นไป และ 3. การเข้าซื้อหุ้นหมายถึงการเข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นของธุรกิจอื่น โดยพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกรวมธุรกิจ (บริษัทเป้าหมาย) มีสถานะเป็นอย่างไร หากอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) จะใช้เกณฑ์การเข้าซื้อที่เพิ่มขึ้นถึงหรือมากกว่า 25% ขึ้นไป และหากเป็นบริษัททั่วไป จะใช้เกณฑ์การเข้าซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ขึ้นไป

 

การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ไม่ให้ทำผิดกฎหมายการแข่งขัน

 

ขณะที่การรวมธุรกิจ มีสาระสำคัญ 2 กรณี ได้แก่ 1. การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ(มาตรา 51 วรรคหนึ่ง) ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณาในเบื้องต้นแล้วพบว่า มียอดเงินขายในตลาดใดตลาดหนึ่งเกิน 1,000 ล้านบาท และไม่เป็นผู้ผูกขาดหรือผู้มีอำนาจเหนือตลาด เมื่อรวมธุรกิจแล้วให้แจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจ

 

การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ไม่ให้ทำผิดกฎหมายการแข่งขัน

 

2. การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ (มาตรา 51 วรรคสอง) โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณาว่า เป็นผู้ผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดใดหรือไม่ กล่าวคือ หลักเกณฑ์ผู้ผูกขาดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวที่มีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้าได้อย่างเป็นอิสระ (ซึ่งต้องมียอดเงินขายเกิน 1,000 ล้านบาท)

ขณะที่หลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% หรือผู้ประกอบธุรกิจ 3 อันดับแรกในตลาดซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกิน 75% จะถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (ทั้งนี้ ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 10% หรือมียอดเงินขายน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท จะไม่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด) หากเข้าข่ายกรณีเป็นผู้ผูกขาด หรือผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจจาก กขค. ก่อนดำเนินการรวมธุรกิจทุกกรณี

 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ

ทั้งนี้ รูปแบบการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบร้ายแรงแตกต่างกันไป 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การรวมธุรกิจในแนวนอน เป็นการรวมธุรกิจในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการในรูปแบบเดียวกัน จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากทำให้คู่แข่งในตลาดลดลงอย่างน้อย 1 ราย ซึ่งมักเป็นการรวมธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคู่แข่งในตลาด ทำให้ระดับการแข่งขันในตลาดลดลง

 

2.การรวมธุรกิจในแนวตั้ง เป็นการรวมธุรกิจในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการในรูปแบบที่ต่างกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกันในห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจของผู้รวมธุรกิจ และอาจเพิ่มโอกาสที่ผู้รวมธุรกิจจะมีพฤติกรรมที่เป็นการกีดกันหรือบิดเบือนกลไกตลาดตามปกติในห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในห่วงโซ่อุปทานได้

 

3.การรวมธุรกิจแบบ หลากหลาย เป็นการรวมธุรกิจในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการในรูปแบบที่ไม่มีความเกี่ยว ข้องกันเลย หรือมีวัตถุประสงค์ในการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจของผู้รวมธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กขค. ก็ยังคงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่ผู้รวมธุรกิจจะมีพฤติกรรมในการลดการแข่งขันเพื่อสร้างผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

 

การพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ

ขณะที่การพิจารณาคำขอฯ กขค. อาจมีคำสั่งได้เป็น 3 แนวทางได้แก่ การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยไม่มีเงื่อนไข การอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยมีการกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขประกอบ และการไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางข้างต้นจะพิจารณาจากผลกระทบของการรวมธุรกิจต่อการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้มีการเฝ้าระวังและติด ตามการรวมธุรกิจที่เข้าข่ายการ กระทำความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมา สขค. ได้ตรวจพบผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายต้องแจ้งผลการ รวม ธุรกิจภายใน 7 วันแต่ไม่ได้มีการดำเนินการตามกฎหมาย จึงมีความผิด ซึ่งได้มีการพิจารณาโทษปรับทางปกครองตามที่ กฎหมายกำหนดไว้

 

โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์และ ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรม อื่นๆ ดำเนินการขออนุญาตรวมธุรกิจ และแจ้งผลการรวมธุรกิจ ในช่วงปี 2562-2564 รวมจำนวนทั้งสิ้น 58 เรื่อง ซึ่งมีมูลค่าการรวมธุรกิจกว่า 2.7 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นอีกในอนาคต

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3717 วันที่ 26-29 กันยายน 2564