"ชัชชาติ"แจงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กทม.

12 ก.ย. 2565 | 21:58 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 05:03 น.
729

ผู้ว่าฯ "ชัชชาติ" ไขปมสถานการณ์น้ำในพื้นที่กทม.ระบุฝนตกในเดือนนี้มากที่สุดในรอบหลายปี ยืนยันมีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งขุดลอกคลอง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ย้ำชัดมีการประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน ไม่มีความขัดแย้ง

หลังจากกรุงเทพมหานครเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายจุด ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมทีมรองผู้ว่าฯ พร้อมทั้งได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

 

ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 6 ปี ภาพรวมสถานการณ์ทั่วไปดีขึ้น 

ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ครั้งนี้ มาจากปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปกติค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณน้ำเต็มในคลองแนวเหนือใต้ ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว จากคลองหกวาสายล่าง-แสนแสบ ทำให้เกิดน้ำท่วมแถวบริเวณรามอินทรา หลักสี่ ดอนเมือง 

 

ในส่วนคลองแนวตะวันออก-ตก คือ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งระดับน้ำสูงทำให้เขตลาดกระบังมีปัญหา โดยปกติจะระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งควบคุมโดยกรมชลประทาน การผันน้ำเข้า-ออกจะต้องดูบริบทโดยรอบด้วย เช่น ฉะเชิงเทราอาจมีน้ำสูงอยู่แล้ว

 

ดังนั้นถ้าไม่ผันน้ำออกทางออกตะวันออก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นทางตะวันตก โดยผ่านประตูระบายน้ำพระโขนง  ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ตอนนี้คลองประเวศฯ กำลังเต็มล้น ระดับน้ำสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 54 ซึ่งปีนั้นเป็นสถานการณ์น้ำเหนือ ลาดกระบังรับที่ปลายน้ำจึงไม่หนักมาก  ที่น้ำมากจะเป็นแถวรังสิต ดอนเมือง สำหรับปีนี้ลาดกระบังหนักอีกทั้งการระบายน้ำทำได้ยาก เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ 
 

อย่างไรก็ดีเมื่อฝนอ่อนกำลังลง ทำให้สามารถระบายน้ำทางคลองลาดพร้าวได้ดีขึ้น ขณะนี้น้ำลดลง 50% ทำให้ที่วงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธินแห้งแล้วเป็นส่วนใหญ่ ด้านคลองเปรมประชากรน้ำลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าจัดการ 2 คลองหลักได้พื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีปัญหา  

 

ปัญหาหลักคือ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งน้ำระบายได้ช้า เพราะมีระยะทางไกลกว่าที่น้ำจะมาถึงสถานีสูบน้ำพระโขนง ถ้าเปิดประตูน้ำเร็วไปจะมีผลกระทบกับพื้นที่พระโขนงและสะพานสูง จึงต้องค่อย ๆ ทยอยดันน้ำและสูบออก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม มีเพียงพื้นที่ที่อยู่ใกล้คลอง ซึ่งมีข้อจำกัดทางกายภาพจะประปัญหาเมื่อมีถ้าฝนตกปริมาณมาก

 

น้ำเหนือขณะนี้ยังไม่น่ากังวล
สถานการณ์น้ำเหนือขณะนี้ยังไม่น่ากังวล ปัจจุบันน้ำที่ไหลผ่านบางไทร มีปริมาณ เฉลี่ย 1,800 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจุดเตือนภัยจะอยู่ที่ระดับ 2,500 ลบ.ม/วินาที มีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและคณะกรรมการน้ำในการบริหารจัดการน้ำเหนืออย่างใกล้ชิด ปัญหาตอนนี้เกิดจากน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถเตรียมการณ์ล่วงหน้าได้ คาดการณ์ระยะเวลาที่น้ำจากบางไทรถึงกรุงเทพฯ อย่างน้อย 12 ชั่วโมง

 

ปริมาณน้ำฝนเดือน ก.ย. ปี 65 ทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายปี

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ปริมาณฝนตกต่อวันในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม– 12 กันยายน 2565 มีจำนวนวันที่ฝนตกหนักเกิน 120 มิลลิเมตร มากถึง 10 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 96.5 มิลลิเมตร 

 

ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนกันยายนในปีก่อน อยู่ที่ 52.2 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 112.7 มิลลิเมตร ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี

เตรียมวางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า 
ที่ผ่านมา กทม. ได้เตรียมการล่วงหน้า ในการขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลัก จำนวน 32 คลอง เปิดทางน้ำไหล ระยะทาง 1,332 กม. ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย 3,358 กม. และได้ทำความสะอาดท่องระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ

 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเห็นว่าที่ฝนตกมาน้ำไม่ได้มีการท่วมกระจาย จะมีเฉพาะจุดที่มีท่วมหนักจริง ๆ ที่เกินกำลังความสามารถในการรับน้ำในคลอง 

 

ย้ำประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน ไม่มีความขัดแย้ง

กทม. มีการร่วมมือประสานงานกับทุกหน่วยงานตลอด ทั้งกรมชลประทาน กรมป้องกันสาธารณภัย ที่ร่วมมือร่วมใจกัน ในส่วนของพื้นที่ลาดกระบังคงต้องลงพื้นที่ให้เข้มข้นขึ้น นอกจากนั้นแล้ว กทม. จะนัดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรมชลประทานอีกด้วย 

 

ระยะยาวต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพ 

ในระยะยาว ต้องทราบก่อนว่าฝนตกหนักขึ้น ซึ่งกำลังเดิมของคลองและท่อระบายน้ำที่มีอยู่ไม่พอ ต้องมีการวางแผน อุโมงค์อย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้เพราะฝนตกหลายที่ ไม่ได้ตกที่อุโมงค์ ดังนั้น การดันน้ำไปถึงอุโมงค์ ต้องมีระบบลำเลียงน้ำไปที่อุโมงค์ได้ 

 

ยกตัวอย่างอุโมงค์คลองแสนแสบ มีอุโมงค์ก็จริงแต่น้ำลาดพร้าวไม่สามารถไปถึงเพราะคลองไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการวางแผนในระยะกลางและระยะยาว ทำระบบน้ำให้ดี อาจจะแก้ไม่ได้ภายในเดือนสองเดือน

 

ดังนั้นงบประมาณที่แต่ก่อนไปทุ่มให้กับอุโมงค์จำนวนมากหลายหมื่นล้าน อาจต้องแบ่งบางส่วนมาทำ เขื่อน คู คลอง ให้เข้มแข็งขึ้น เช่น เครื่องสูบน้ำที่ประตูพระโขนง มีทั้งหมด 45 เครื่อง เป็นเครื่องเก่า ระยะยาวอาจจะต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น กินน้ำน้อยลง ปัจจุบันใช้น้ำจุ่ม ถ้าน้ำน้อยเครื่องจะน็อคเพราะว่าต้องอาศัยน้ำ ถ้าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องใช้เวลา มีการออกแบบ เปลี่ยนระบบ อาจจะต้องรอจังหวะทำระบบชั่วคราว นี่คือการวางแผน 

 

"นี่คือสิ่งเตือนที่ดีว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนฝนตก 60-70 ม.ม. ไม่ได้เกิดที่เราอย่างเดียว มันเกิดทั่วโลก นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าต่อไปต้องคิดระบบภาพรวมที่ต้องลงทุน และแนวคิดเดิมเช่น เรื่องอุโมงค์ อาจจะต้องคิดใหม่ว่า ประตูระบายน้ำ ปั๊มน้ำก็สำคัญ

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำแน่นอนคือเรื่องของชุมชนที่ต้องอยู่ริมน้ำ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของคลองลดลง ต้องดูแลเขาว่าจะเอาเขาขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราจะให้น้ำไหลเร็วต้องดูแลพี่น้องกลุ่มนี้ด้วย ถ้าเขาขึ้นได้มีบ้านให้เขาอยู่ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ต้องบริหารทั้งเชิงสังคมและเชิงเทคนิคไปด้วยกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

ย้ำชัดบริหารน้ำบูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่าย


ในส่วนหน่วยงาน กทม. มีการบูรณาการร่วมกันอยู่แล้วกับกรมชลประทาน ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกันไม่กี่จุด ตรงด้านใต้คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต สำนักการระบายก็คุยเรื่องบริหารงานตลอด คนทำงานในพื้นที่มีการคุยกันตลอด แต่มีเงื่อนไขในเรื่องสภาพทางกายภาพด้วย กรมทางหลวงก็คุย เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างที่อาจจะอุดตันทางน้ำ ซึ่งท่านอธิบดีกรมทางหลวงก็ให้ความร่วมมืออย่างดี 

 

“เมื่อ 2 เดือนก่อน เราไปคุยกับกรมชลประทานที่ประตูระบายน้ำ ทุกคนคุยกันตลอด อย่างที่บอก กทม.ดูกรุงเทพฯ กรมชลประทานดูภาพรวม เชื่อว่าเขาต้องบริหาร จะปล่อยให้กรุงเทพฯ รอด หรือปล่อยกรุงเทพฯ ท่วมก็ไม่ได้ เราต้องบริหารตามสภาพโดยมีหน่วยงานกลาง คือ กรมชลประทานเป็นคนประสาน ถ้าไม่มีกรมชล ผมว่าเกิดอุทกภัยได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

ในเรื่องของความร่วมมือ กทม.ได้ทำงานกับกรมชลประทานและ สทนช. มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย สทนช. ให้ข้อมูลด้วยซ้ำว่าฝนและน้ำเหนืออาจจะมาเร็วกว่าเดิม จาก ต.ค. เป็นเดือน ก.ย. การประสานงานในส่วนของการดูระดับน้ำได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ซึ่ง กทม. ได้บริหารจัดการการเปิด-ปิดประตูน้ำลาดกระบังมาเป็นระยะ ๆ การเปิดน้ำ กทม. ยังกังวลในพื้นที่ 3 เขตว่า ถ้าเปิดมากเกินอาจจะกระทบกับสวนหลวง ประเวศ ซื้อเวลาเปิดๆ ปิดๆ ให้น้ำค่อย ๆ ออกมา ในขณะเดียวกันมีการก่อกำแพงเพื่อรับน้ำที่เพิ่มขึ้น 

 

ดังนั้น การจัดการข้ามพื้นที่ยังคงต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอื่นจะเยอะเกินไป กรมชลประทานพัดมวลน้ำไปทางไหนได้เร็วที่สุด กรมชลประทานก็จะช่วยพร่องน้ำให้ แล้วประสานกับจังหวัดเพื่อให้จังหวัดเตรียมรับมือ ซึ่งกรมชลประทานจะเห็นภาพรวมทั้งหมด

 

“มีคำถามว่าเราพร่องน้ำเตรียมไว้หรือไม่ เราพร่องตลอด เมื่อไรเราพร่องได้เราพร่อง ความจุของคลองจะต้องเต็มที่ให้ได้มากที่สุด และรองรับน้ำฝนไว้ได้ วิธีการทำงานคือแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไม่คุย กทม.น้ำจะออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้างนอกด้วยว่าเป็นไปได้มากแค่ไหน ที่บอกว่าเราไม่ได้ประสานงานกับกรมอื่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วยเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์พักพิง เครื่องสูบน้ำ สำนักการระบายน้ำขอไปก็ให้ความอนุเคราะห์ อาสาสมัครที่มาช่วยเรา หลาย ๆ ที่เรามีความร่วมมือมาโดยตลอด อาชีวะก็มาช่วยเรา”  ผศ.ดร.ทวิดา  กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า