หมอระวี อัดกมธ.ข้างมาก ตีรวน คืนชีพสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร100

25 ก.ค. 2565 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2565 | 22:36 น.

“นพ.ระวี” ซัด กมธ.ข้างมาก พยายามตีรวน - คืนชีพ สูตรคำนวณ ส.ส.100หาร ย้ำมีทีเด็ด ดันร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ให้ผ่านวาระสาม - ขอพักประชุม เพื่อแก้ 2 มาตรา

  วันที่ 25 ก.ค. 2565      นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ต่อเนื่องในวาระสอง ที่เหลือมาตราที่รอพิจารณาประมาณ 10 มาตรา

 

โดยเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แม้ฝ่าย กมธ.เสียงข้างมาก พยายามตีรวนให้การพิจารณาวาระสองนั้นมีปัญหาและทำให้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ กลับไปใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย

 

หมอระวี อัดกมธ.ข้างมาก ตีรวน คืนชีพสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร100

อย่างไรก็ดีตนมั่นใจว่าการประชุมจะราบรื่น แม้จะมีประเด็นที่ต้องพักการประชุมเพื่อกลับไปแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เชื่อว่าจะพักประชุมเพียง 30 นาที เพื่อแก้ไข 2มาตรา

           

นพ.ระวี กล่าวย้ำโดยกเชื่อว่าการประชุมในวาระสองจะไม่มีปัญหา เพราะจะคลี่คลายได้โดยมีผู้เสนอให้ที่ประชุมแก้ไข 2 มาตรา แม้นายสาธิต ปิตะตุชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะประธาน กมธ.ฯ จะบอกว่าทำไม่ได้ เสนอไม่ได้ แต่เชื่อว่าที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติให้กระทำได้ ส่วน 2 มาตราที่จะแก้ไขนั้นตนขอเก็บเป็นความลับ และขอให้ติดตามรายละเอียดในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 26 กรกฏาคม

           

“ที่ผ่านมาการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ในสภา ที่พบว่าเสียงของที่ประชุมชนะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ต้องกลับไปแก้ไขเนื้อหา ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาเคยทำกันได้ และเรื่องร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขณะนี้กฤษฎีกาให้ความเห็นมาแล้ว ดังนั้นประธานกมธ.หรือกมธ.เสียงข้างมากจะอ้างเจตนารมณ์ของตัวเองเพื่อเอาชนะเสียงของสมาชิกรัฐสภาข้างมากได้อย่างไร” นพ.ระวี กล่าว
 

   เมื่อถามย้ำว่าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะสามารถลงมติวาระ 3 ได้ภายในวันที่ 26 กรกฏาคม ใช่หรือไม่ นพ.ระวี กล่าวว่า การลงมติ มี 2 ทาง คือ โหวตเห็นชอบ ซึ่งขั้นตอนจะดำเนินการไปตามกฎหมายและถึงศาลรัฐธรรมนูญ และโหวตคว่ำ

 

ซึ่งส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต้องลงมติคว่ำ เท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส. ทั้งจำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย หรือจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ซึ่งตนมองว่าหากจะสู้ควรให้เป็นไปตามกระบวนการ อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่าประเด็นความพยายามคว่ำเนื้อหาจะเกิดขึ้นหากอีกฝั่งไม่สามารถสู้เพื่อเอาชนะได้