ส่องสูตรคำนวณ"ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" ส่อลงเอยที่ศาล รธน.!!

06 ก.ค. 2565 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 16:29 น.
578

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรรคการเมือง ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันขณะนี้ หนีไม่พ้นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่างหารด้วย 100 กับหาร 500 เริ่มมีท่าทีชัดเจน หลัง "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"ส่งซิกให้โหวตสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 500

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรรคการเมือง ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในขณะนี้ หนีไม่พ้นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่างหารด้วย 100 กับ หารด้วย 500 จะลงเอ่ยที่สูตรใด

 

แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะหนุนสูตรหาร 100 แม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคปชป.ยังมีข้อโต้แย้งภายในพรรคอย่างหนัก  กระทั่งท้ายที่สุดที่ประชุมพรรคปชป.มีมติให้ฟรีโหวต


+เสี่ยงลงเอยที่ศาล รธน.

หากย้อนไปดู มติของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่… ) พ.ศ. …ที่มี นายสาธิต ปิตุเตชะ  รมช.สาธารณสุข  พรรคประชาธิปัตย์ นั่งเป็นประธาน กมธ.ฯ เห็นด้วย ให้ใช้สูตคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” หรือปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 จำนวน 32 เสียง และสูตรหาร 500 จำนวน 11 เสียง  หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถกเถียงกันในชั้น กมธ.ฯ ว่าจะเลือกรูปแบบใดกันแน่

เท่ากับว่าที่ประชุม กมธ.กฎหมายลูกเลือกตั้ง เห็นชอบให้การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นำคะแนนเลือกตั้งบัตรดีทั้งประเทศหารด้วย 100 และไม่มีการคำนวณ ส.ส.พึงมี  ส่งผลให้หลายพรรคโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย สนับสนุนแนวทางการคำนวณสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หารด้วย 100  มาตั้งแต่ต้น  เพราะมีผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบจากการคิดคำนวณ ทำให้ได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเข้ามา  

 

ส่องสูตรคำนวณ\"ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์\" ส่อลงเอยที่ศาล รธน.!! ​​​​​​​

ขณะที่ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบมากที่สุดถึงข้้นอาจไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.แม้แต่คนเดียว ไม่แปลกที่ส.ส.พรรคขนาดเล็ก-ขนาดกลาง เคลื่อนไหว ให้ใช้คำนวณสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หารด้วย 500 แทน หารด้วย 100

    

แม้ช่วงแรกท่าทีจาก "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยืนยันให้ยึดตามความเห็นของกมธ.ฯและประธานวิปรัฐบาล กำชับว่าประชุมอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น 

 

 แต่หลังนายกรัฐมนตรี หารือนอกรอบช่วงพักเบรกประชุมครม.แบบรายตัวเมื่อวาน (5 ก.ค.) "บิ๊กป้อม" มีท่าทีอ่อนลง และเห็นคล้อยตามกับ “น้องตู่”ให้โหวตหนุนปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้มุมมองว่า หากรัฐสภาให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 ต้องคำนึงถึงคำว่า ส.ส.พึงมี เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่การตีความจะแปลความแบบเก่าไม่ได้ ความจริงไม่ได้ดูว่าเป็นธรรมกับพรรคเล็กหรือพรรคใหม่ แต่จะดูว่าหลักการที่ถูกเป็นอย่างไร หารแบบไหนถึงเป็นธรรมกว่ากัน


อย่างไรก็ตาม รองนายกฯฝ่ายการเมือง ยอมรับว่า มาตราที่แก้กับมาตราที่เหลือย้อนแย้งกันสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีคนสงสัย พรรคเล็กพรรคใหม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี 

+ ยื่นตีความต้อง 70 เสียงขึ้น


ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วิปรัฐบาลมีมติเห็นชอบกับมติคณะกมธ.ฯ ที่เห็นชอบกับร่างของกกต. ที่ให้หารด้วย 100 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ยึดหลักการตามคณะกมธ.ฯ

 

ส่วนกรณีมีสมาชิกรัฐสภาบางคนออกมาพูดในทำนองการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยใช้ 100 หารจะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้ 500 หารว่า  การแสดงความเห็นลักษณะดังกล่าวเท่ากับกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 132 บัญญัติชัดเจนว่า หลังจากรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ภายใน 15 วัน จะต้องนำส่งไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้คือกกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบ 

 


    เมื่อกกต.เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งให้หารด้วย 100 และเสนอต่อยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยครม.ได้ส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งกลับมายังครม.แล้วอนุมัติก่อนส่งมาสภา ทำให้การที่สมาชิกรัฐสภาบางคนกล่าวหาว่าการหาร 100 จะขัดรัฐธรรมนูญ เท่ากับกล่าวหากกต.โดยตรง และอาจทำให้กฤษฎีกา รวมถึงครม. ซึ่งมีส่วนร่วมในการรับรองได้รับผลกระทบด้วย

 


ในกรณีที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเสร็จสิ้นอาจมีสมาชิกรัฐสภาไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าจะยื่นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ต้องให้ส.ส. และส.ว. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ คือ 70 กว่าคน ตนคิดว่าเสียงไม่น่าจะถึง เพราะดูตามเหตุผลแล้วไม่น่าจะได้ แต่หากจะยื่นก็ได้เราไม่ห่วงอะไร และไม่ได้กลัวอยู่แล้ว


สอดคล้องกับความเห็นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบขั้นรับหลักการเข้าสู่ กมธ. ทางกมธ.ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย  ส่วนที่มี กมธ.สงวนความเห็น 11 คน โดยหลักการแล้วเมื่อร่างผ่านความเห็นชอบของ กมธ.แล้ว วิปรัฐบาลต้องยืนยันหลักการดังกล่าว

 

เมื่อเสร็จวาระ 2-3 ต้องเสนอกลับไปยัง กกต.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง เมื่อเป็นร่าง กกต. แล้วจะให้ความเห็นชอบแตกต่างกันไป เป็นหารด้วย 500 กกต.ไม่สามารถทำได้ จะถูกกล่าวหาได้
   

ต้องจับตาท้ายที่สุดปมการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 กับหาร 500 ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา