"ชินวรณ์" ย้ำส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องหาร100 หวั่นขัดหลักการรธน.ที่แก้ไข

04 ก.ค. 2565 | 14:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 22:10 น.

"ชินวรณ์" ย้ำสูตร.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องหาร 100 ไม่เช่นนั้นขัดหลักการรธน.ที่แก้ไข แนะ วิปรัฐบาลร่วมทำงานให้รัดกุม ชี้ปชป. เสียงแตกไม่ได้เป็นเรื่องใหม่

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

 

ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสร็จแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเวลาไม่เกินครึ่งวัน

 

จากนั้นจะต่อด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งประเด็นของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีประเด็นเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตนในฐานะที่เป็นรองประธานกมธ. และในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาล

 

ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมาที่ครม. ซึ่งตรงกับร่างของรัฐบาล เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ ในขั้นรับหลักการและเข้าสู่กมธ. ทางกมธ. ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีกมธ. สงวนความเห็น 11 คน

 

นายชินวรณ์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเมื่อร่างผ่านความเห็นชอบของกมธ. แล้ว วิปรัฐบาล ก็คงจะต้องยืนยัน ในหลักการดังกล่าวว่าเป็นร่างของเราเอง และการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อพิจารณาเสร็จในวาระ 2-3 ต้องเสนอกลับไปยังกกต. ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้นเมื่อเป็นร่างของกกต. แล้วจะให้ความเห็นชอบที่แตกต่างกันไป เป็นหารด้วย 500 เป็นเรื่องที่กกต.ไม่สามารถทำได้ หากทำกกต. จะถูกกล่าวหาได้เช่นเดียวกัน ที่สำคัญที่สุด ในส่วนของกระบวนการ ที่จะดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากมีการเสนอที่ผิดไปจากหลักการที่เสนอเข้ามา ก็จะเป็นเหตุผลหนึ่งต่อไปในอนาคตที่จะนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

 

และท้ายที่สุดการดำเนินการดังกล่าวก็อาจจะถูกกล่าวหาอีกเช่นกันได้ว่ามีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก ส่วนประเด็นมาตรา 91 ที่มีการเสนอให้หารด้วย 500 นั้น ถือว่า ขัดรัฐธรรมนูญม่เป็นไปตาม มาตรา 93 และมาตรา 94

 

“ขอย้ำว่าในชั้น กมธ.ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเห็นตรงกันว่า เรามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าได้แก้ไขเจตนารมณ์ต่อประเด็นการเลือกตั้งไปแล้ว คือจากระบบสัดส่วนผสม จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และให้มีการคิดคำนวณอย่างชัดเจน คือส.ส.เขต 400 เขต ใครได้คะแนนสูงสุด ก็เป็นส.ส. ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ให้คำนวณจากจำนวนบัญชีรายชื่อคือ 100 ดังนั้นรัฐบาลจึงควรทำตามหลักการนี้” นายชินวรณ์ กล่าว

 นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนพรรค ปชป. ที่ยังมีเสียงแตกกัน ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป. ก็เป็นกมธ.และเป็น 1 ใน 11 คนที่สงวนความเห็นเรื่องนี้ จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่มีปัญหาอะไร

 

พรรค ปชป. ที่เป็นสถาบันทางการเมือง เมื่อมีประเด็นนี้ขึ้นมา ตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมพรรค ปชป. อีกครั้ง ว่าพรรคจะมีมติอย่างไร

 

เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อเสถียรของรัฐบาล และพรรค ปชป. หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องกระทบกันในทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสำคัญตนได้เตือนตลอดว่า อาจจะส่งผลกระทบในทางการเมืองได้

 

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เราจะไปพิจารณาหน้างานหรือพิจารณาโดยไม่ได้ตรวจทานร่วมกันคงไม่ได้ และประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงสุดท้ายของสมัยประชุมแล้ว ตนจึงอยากเรียกร้องว่าต้องมีกระบวนการทำงานอย่างรัดกุม ซึ่งวิปรัฐบาลก็ต้องมาทบทวน ตรวจทานส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนทุกเรื่องไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิปรัฐบาลจะมาพูดว่าค่อยไปดูกันหน้างานอย่างนี้ไม่ได้ เพราะวิปรัฐบาล ต้องสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของสภาฯ