เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ‘กกต.-พรรคเล็ก’

15 ต.ค. 2564 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2564 | 20:35 น.
1.1 k

เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ‘กกต.-พรรคเล็ก’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,723 หน้า 12 วันที่ 17 - 20 ตุลาคม 2564

เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมยกร่างแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับแก้เนื้อหารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง ที่มีการปรับแก้ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และจะต้องปรับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นแบบระบบเติมเต็ม

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงการร่างกฎหมายลูกดังกล่าว 

 

กกต.ลุยยกร่างก.ม.ลูก

 

นายวิษณุ กล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กกต. ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทางกกต. จะเป็นผู้จัดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯ  ถวายขึ้นไปแล้ว

 

ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พาดพิงไปถึง แต่ความคิดที่จะแก้ไขนั้น มีอยู่เป็นเอกเทศก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น จะมีการขอความเห็นจาก กกต.ใหญ่ทั้ง 7 คน อีกครั้งหนึ่งก่อนว่า จะเอาอย่างไร 

 

“หาก กกต.ทั้ง 7 คนเห็นว่าควรต้องแก้ ทั้ง 2 ฉบับไปในคราวเดียวกัน ทั้ง ส.ส.และพรรคการเมืองก็จะเสนอมา”

 

นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ทางสำนักงาน กกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา เตรียมเสนอ กกต.ใหญ่จากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ และเมื่อ กกต.ใหญ่เห็นชอบแล้ว ก็จะรับฟังความเห็นในส่วนกลางคือ ฟังจากพรรคการเมืองและประชาชนจากนั้นจะส่งร่างไปให้ กกต.จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นในจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงจากนั้นจึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบอีกครั้ง จากนั้นก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภา

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องใช้คำว่าเตรียมก็เพราะว่ายังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญลงมา เมื่อมีพระปรมาภิไธยลงมา และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงจะส่งให้รัฐสภาต่อไป 

 

“ระหว่างนี้ทุกคนก็ทำงานของตัวเองไป ทั้งยกร่าง ซึ่งร่างเสร็จแล้ว 30 มาตรา และเตรียมที่จะเสนอ กกต.ใหญ่ ซึ่งคิดว่าคงอีกไม่กี่วัน และเมื่อ กกต.ใหญ่เห็นอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งก็คือการรับฟังความเห็น” 

 

 

เปิดสูตรคำนวณ  ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ‘กกต.-พรรคเล็ก’

 

 

ชงเข้าสภาสมัยที่จะถึงนี้

 

“เมื่อถึงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จ ก็คงจะเสนอเข้าสภาไป ถ้ามีหลายฉบับก็จะไปรวมพิจารณากันโดยเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปให้กกต.อีกภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าการที่คณะกรรมาธิการนำไปแก้นั้นผิดไปจากเจตนารมณ์ของกกต.หรือไม่ โดยกกต.จะต้องตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาก็จะทำการแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ” นายวิษณุ ระบุ

 

มีรายงานถึงผลการหารือว่า ที่ประชุมยังไม่คุยเรื่องรายละเอียดเนื้อหา ของร่างกฎหมาย แค่คุยเรื่องขั้นตอนว่าทำอย่างไรให้การพิจารณาแก้ไขพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ทำได้เร็ว ระหว่าง 90 วัน ที่รอโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญลงมา 

 

“กกต.เดินหน้ายกร่างไป ถ้ากกต.เห็นชอบร่างแก้ไข สามารถเปิดรับฟังความเห็นเลยได้ไหม ตรงนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เขียนไว้ให้ทำได้ เมื่อกกต.พิจารณาเสร็จแล้วก็ให้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นระยะเพื่อที่พอเสนอครม. ขั้นตอนจะได้เร็ว อยากให้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.พิจารณาได้เสร็จในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดนี้ เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ ส่วนพ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็แล้วแต่ กกต.” แหล่งข่าวระบุ 

 

กกต.ชงสูตรปาร์ตี้ลิสต์ 

 

ทั้งนี้มีรายงานจาก กกต.ว่า สำนักงาน กกต. ได้ศึกษาและยกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

 

เบื้องต้นมีกว่า 30 มาตรา เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จำนวนส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

ส่วนการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อส.ส. 1 คน และหากจัดสรรแล้วยังได้ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ก็จะจัดสรรให้พรรคที่เหลือคะแนนเศษมากตามลำดับ

 

ด้านการแบ่งเขตใหม่ 400 เขตให้เสร็จใน 90 วัน ส.ส.เขตใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค, การลดเวลาลงคะแนนเหลือ 16.00 น. เช่นเดิม, เพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คน เป็น 9 คน และกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อหน่วย 800 คน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ มีการหารือถึงข้อติดขัดของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ที่ กกต.ได้รับฟังจากพรรคการเมืองคือ กรณีการทำ “ไพรมารีโหวต” เพื่อคัดเลือกและส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

 

เพราะนับแต่บังคับใช้พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จน ปัจจุบัน การจัดตั้งสาขาพรรค การหาสมาชิกพรรคซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการทำไพรมารีโหวต แต่ละพรรคยังเป็นปัญหา สมควรต้องมีการแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้ นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ได้เสนอแนวทางแก้ไขให้ทางสำนักงาน กกต. ไปพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นว่า หากแก้ไขเป็นพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ต้องมีสาขาพรรคการเมืองจังหวัดละ 1 แห่ง ประชุมร่วมกับสมาชิก 500 คน สามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัด ตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาได้น่าจะทำให้กระบวนการคัดสรรผู้สมัครของพรรคคล่องตัวขึ้น

 

“นิกร”ขอพรรคเล็กมีที่ยืน

 

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการเตรียมแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ว่า ได้แลกเปลี่ยนความเห็น กับ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เบื้องต้นมีประเด็นที่เห็นในทางเดียวกัน คือ การใช้ระบบคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2554 

 

มีรายละเอียดคือให้นำคะแนนที่เลือกพรรคการเมืองทุกพรรคทั่วประเทศรวมกัน หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อให้ได้คะแนนที่พึงมีของ ส.ส. 1 คน เช่น เมื่อหารคะแนนได้คะแนนพึงมี 3.5 แสนคะแนน จะเท่ากับพรรคไหนที่ได้คะแนนดังกล่าวจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ทั้งนี้ การหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้คะแนนพึงมีด้วยจำนวนเต็มเพื่อหาส.ส.ก่อน 

 

นายนิกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวหากได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คน ให้คิดคะแนนจากเศษคะแนน โดยให้สิทธิทุกพรรค นำคะแนนเศษจัดลำดับอันดับสูงสุด เพื่อคำนวณหาส.ส.ที่เหลือ เพื่อให้ครบจำนวน 100 คน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้พรรคขนาดเล็ก หรือพรรคเฉพาะทาง เช่น พรรคชาวนา, พรรคครู, พรรคแรงงาน มีสิทธิได้ที่นั่งในสภา เช่น พรรคชาวนา ที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 3 แสนคะแนน จะมีสิทธิได้รับการจัดอันดับดังกล่าวด้วย

“ทั้งนี้เพื่อให้พรรคเฉพาะทางหรือพรรคขนาดเล็ก มีที่ยืนในสภา และเพื่อประโยชน์ทางการเมืองจะพัฒนา” นายนิกร ระบุ

 

ต้องแก้ไพรมารีโหวต

 

นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองต้องแก้ไขประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) เพราะเป็นความผิดพลาดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำไว้ โดยไม่ถามพรรคการ เมือง แม้จะทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พิจารณาอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้กำหนดให้ต้องทำไพรมารีโหวต และเมื่อระบุไว้ทำให้มีปัญหา กกต.ทำงานยาก และอึดอัด

 

“การแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการ เมือง มีภาคบังคับให้แก้ไข เพราะมาตรา 51(2) ระบุจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้มี 100 คนส่วนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง คือให้มีกรรมการสรรหา นอกจากนั้นได้ยึดเนื้อหาฉบับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนด ให้ใช้เขตจังหวัด แทนการกำหนดให้ใช้ เขตเลือกตั้ง  

 

เช่น ในกฎหมายที่บังคับใช้ พบว่าบางจังหวัดมี 10 เขตเลือกตั้ง ต้องทำไพรมารี่โหวตทุกเขตเลือกตั้งและการเลือกตั้งขั้นต้น ผู้สมัคร ต้องหาสมาชิกประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกรณีผู้สมัครจัดหาให้เลือก ไม่ใช่ประชาชนเลือกผู้ลงสมัคร อีกทั้งการกำหนดให้มีสมาชิก 100 คนเลือกผู้สมัคร ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นตัว แทนประชาชนทั้งจังหวัด ซึ่งกรณีที่เตรียมแก้ไขสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมได้” นายนิกร กล่าว